ข่าวดี !ธนาคารพร้อมโอนเงินเยียวยา ม.33 พื้นที่10 จว.สีแดงเข้มเริ่ม 4 ส.ค

30 ก.ค. 2564 | 06:01 น.

สมาคมธนาคารไทยประสานธนาคารสมาชิก พร้อมรับโอนเงินเยียวยาผ่านระบบพร้อมเพย์ ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือ จากคำสั่งล็อกดาวน์ ประเดิม 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม 2.87 ล้านราย เริ่ม 4-6 ส.ค.64

วันนี้( 30 ก.ค.64) สมาคมธนาคารไทยได้ประสานธนาคารสมาชิก เพื่อเตรียมพร้อมดำเนินการรับโอนเงินเยียวยาประกันสังคมเข้าบัญชีธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้นายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกิจการตามประกาศคำสั่งของ ศบค.

ข่าวดี !ธนาคารพร้อมโอนเงินเยียวยา ม.33 พื้นที่10 จว.สีแดงเข้มเริ่ม 4 ส.ค

โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะทำการโอนให้ผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ได้รับสิทธิในวันที่ 4-6 สิงหาคม 2564 เฉพาะ 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม จำนวนผู้ประกันตนกว่า 2.87 ล้านราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา

ส่วน 3 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ พระนครศรีอยุธยา จะแจ้งการโอนเงินให้ทราบ อีกครั้งในภายหลัง

ทั้งนี้นายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือนี้ จะต้องเป็นผู้ได้สิทธิตามคุณสมบัติและเงื่อนไข โดยสปส.ได้เปิดให้ตรวจสอบสิทธิบนเว็บไซต์ https://www.sso.go.th ของ สปส.ตลอด 24 ชม.ซึ่งผู้ประกันตนที่มีบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนจะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องติดต่อธนาคารเพื่อเปิดบัญชีใหม่ หรือลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยบัตรประชาชนใหม่

สำหรับผู้ประกันตนที่ได้สิทธิและมีบัญชีธนาคาร แต่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน หรือ เดิมผูกด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ สามารถดำเนินการผูกบัญชีหรือเปลี่ยนพร้อมเพย์จากโทรศัพท์มือถือ มาเป็นผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนด้วยตนเอง ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่มีบัญชีอยู่ เช่น Mobile Application, Internet Banking และเครื่อง ATM ตามช่องทางที่แต่ละธนาคารให้บริการ

ส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิและยังไม่เคยมีบัญชีเงินฝาก สามารถใช้บริการเปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ จากนั้นค่อยลงทะเบียนผูกพร้อมเพย์ด้วยหมายเลขบัตรประชาชน ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอรับสิทธิตามมาตรการเยียวยาดังกล่าว

หากมีข้อสงสัยเรื่องการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน หรือช่องทาง ที่สามารถทำได้ สามารถศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ หรือ ติดต่อสอบถามผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารที่ใช้บริการอยู่