เช็ก ผลประสิทธิภาพวัคซีนโควิด “ ซิโนแวค- แอสตร้าเซนเนก้า”

22 ก.ค. 2564 | 11:28 น.
อัพเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 18:50 น.

ทวีทรัพย์” เปิดผลเช็กประสิทธิภาพวัคซีนโควิดที่ใช้จริงในไทย ระบุ  ฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อจากสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณ 90%  ขณะที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ป้องกันติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา ประมาณ 84 เปอร์เซ็นต์

ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ

 

นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  เผยผลการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ที่มีการใช้จริงในประเทศไทย ว่ารายงานการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของคณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในจังหวัดภูเก็ต สมุทรสาคร และเชียงราย ช่วงเดือนเมษายน –มิถุนายน 2564 ที่ใช้สถิติเฉพาะทางระบาดวิทยามาคำนวณ เปรียบเทียบอัตราส่วนของการเป็นโรคกับไม่เป็นโรคในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนกับไม่ได้ฉีดวัคซีน (Odds Ratio : OR) พบผลการศึกษาดังนี้

 

จังหวัดภูเก็ต จากการติดตามกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 1,541 ราย พบ ผล RT-PCR พบเชื้อและได้รับวัคซีนครบ 2 โดส จำนวน 1 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 111 ราย มีผล RT-PCR ไม่พบเชื้อและได้รับวัคซีนครบ 2 โดส จำนวน 99 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 1,027 ราย คิดเป็นอัตรา Odd ratio เท่ากับ 0.0935 คำนวณประสิทธิผลวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ (1-0.090) x 100 = 90.65 เปอร์เซ็นต์

 

จังหวัดสมุทรสาคร

จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า จำนวนกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงทั้งสิ้น 490 ราย แบ่งเป็น มีผล RT-PCR พบเชื้อและได้รับวัคซีนครบ 2 โดส จำนวน 1 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 105 ราย มีผล RT-PCR ไม่พบเชื้อและได้รับวัคซีนครบ 2 โดส จำนวน 35 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 349 ราย คิดเป็นอัตรา Odd ratio เท่ากับ 0.095 คำนวณประสิทธิผลวัคซีน (1-0.095) x 100 = 90.5 เปอร์เซ็นต์

ผลเช็กประสิทธิภาพวัคซีน

 

ส่วนจังหวัดเชียงราย ศึกษาในบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 413 คน ผล RT-PCT พบเชื้อ 40 คน โดยแยกเป็นพบเชื้อและได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส 24 คน พบเชื้อและได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส 5 คน พบเชื้อและไม่ได้รับวัคซีนเลย 11 คน ผล RT-PCR ไม่พบเชื้อ 373 คน แยกเป็นไม่พบเชื้อและได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส 312 คน ไม่พบเชื้อและได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส 45 คน ไม่พบเชื้อและไม่ได้รับวัคซีน 16 คน คำนวณประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค ครบสองเข็ม ป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 88.8 เปอร์เซ็นต์ และแอสตร้าเซเนก้า 1 เข็ม อยู่ที่ 83.8 เปอร์เซ็นต์

 

ส่วนกรณีปอดอักเสบ พบว่า บุคลากรที่ติดเชื้อ 40 คนมีปอดอักเสบ 6 คน โดยเป็นผู้ที่ได้วัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส 4 คน ไม่ได้รับวัคซีน 2 คน และได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไม่พบปอดบวม คำนวณประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคป้องกันปอดอักเสบร้อยละ 84.9

 

 โดยสรุปการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อจากสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันปอดอักเสบร้อยละ 85 สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ป้องกันติดเชื้ออัลฟาได้ร้อยละ 84 ทั้งนี้ หากพบอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422