กระทรวงสาธารณสุข แนะ 6 แนวทางในการใช้ชุดตรวจโควิดแบบ Rapid Test ในรพ.

08 ก.ค. 2564 | 09:34 น.

สธ.ชงแนวทาง 6 ข้อในการใช้ชุดตรวจโควิด Rapid Test ในรพ.หลังประชาชนแห่เข้าคิวตรวจแบบ RT-PCR เป็นจำนวนมาก พร้อมเผยแผนศึกษาการตรวจ Antigen test แบบ Home use หรือชุดทดสอบด้วยตนเอง รวมถึงการตรวจน้ำลาย,การตรวจแบบรวมตัวอย่าง

สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด19  ด้วยวิธีมาตรฐาน คือ วิธี RT-PCR (Real – time Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction) แต่ละรอบใช้เวลา  3–5 ชั่วโมง โดยทั่วไปสามารถออกผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณจำนวนสิ่งส่งตรวจจำนวนบุคลากรและเครื่องตรวจ 


โดยขณะนี้มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการ 335 แห่งที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศแต่ในบางพื้นที่ บางช่วงเวลา ยังพบว่ามีผู้รอคิวเข้ารับการตรวจจำนวนมากหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ได้


นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทางคณะกรรมการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) กระทรวงสาธารณสุขได้มีมติให้มีการกำหนดแนวทางการใช้การตรวจหาแอนติเจนโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ดังนี้  

     
1. ชุดตรวจที่ใช้ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนแล้วกับ อย.


2. ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ใช้โดยสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ผ่านการรับรองทางห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


3. ตัวอย่างที่ใช้ตรวจเก็บจากการแหย่จมูกตามที่ชุดตรวจกำหนด


4. ผู้ป่วยที่มีอาการให้มีการพิจารณาการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ก่อน 


5. กรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากให้ใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ถ้าให้ผลบวกให้ตรวจยืนยันด้วย RT-PCR 


6. ผู้สงสัยแต่ไม่มีอาการให้ตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Rapid Antigen Test

กระทรวงสาธารณสุข แนะ 6 แนวทางในการใช้ชุดตรวจโควิดแบบ Rapid Test ในรพ.

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการใช้ชุดตรวจ Antigen test แบบ Home use หรือชุดทดสอบด้วยตนเอง (Self test) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพิจารณาแนวทางการดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินการมีความเหมาะสม ปฏิบัติได้จริง เกิดประโยชน์ และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด นอกจากนี้กำลังพิจารณาการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ร่วมกับการใช้วิธีอื่นๆ เช่น การตรวจน้ำลาย, การตรวจแบบรวมตัวอย่าง (Pooled Samples) เป็นต้น 


อนึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ประกาศมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด 5 มาตรการ ซึ่ง 1 ใน 5 ข้อได้เสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ Rapid Antigen Test ในสถานพยาบาลได้ทันที โดยทั้ง 5 มาตรการมีรายละเอียดดังนี้


1.การตรวจหาเชื้อตามปกติใช้วิธี RT-PCR ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เก็บตัวอย่าง และเมื่อมีการตรวจมากทำให้รอผลตรวจนานข้ามวัน จึงให้ใช้ Rapid Antigen Test หรือชุดทดสอบแบบรวดเร็ว โดยสถานพยาบาลดำเนินการได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และจะวางระบบรองรับเรื่องการตรวจด้วยตัวเองที่บ้านต่อไป 

 

2.การดำเนินการแยกกักที่บ้านและชุมชน (Home Isolation & Community Isolation) ในผู้ป่วยโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดระบบสาธารณสุขดูแลติดตามให้เครื่องมือในการตรวจวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด หากอาการมากขึ้นหรือมีความเสี่ยงจะรับมาดูแลในโรงพยาบาลและร่วมกับ สปสช.ปรับเกณฑ์ เรื่อง Home Isolation


นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลครบ 10 วันให้กลับมา Home Isolation ต่อจนครบ 14 วัน เพื่อลดปริมาณการใช้เตียง ให้คนที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นเข้าสู่โรงพยาบาลได้ต่อไป
 

3.มาตรการส่วนบุคคล โดยให้ Bubble and Seal ตัวเอง แยกรับประทานอาหารที่บ้านและที่ทำงาน เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อจากที่บ้านและที่ทำงาน และเน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อต่อไป 


4.จะเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยจะฉีดวัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 80% ใน 2 กลุ่มนี้ เน้นพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑล จะเร่งฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ภายใน 1-2 สัปดาห์ 


 5.กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ ศบค.เพื่อยกระดับมาตรการทางสังคม ในการจำกัดห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงสถานที่รวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น ยกเว้นตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร เดินทางไปโรงพยาบาล หรือไปฉีดวัคซีน เป็นต้น


โดยมาตรการนี้จะดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการระบาดใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งจะเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณามาตรการต่อไป