โฆษก กต. แจงที่มาของวัคซีนสหรัฐ ผลพวงของมิตรไมตรี 188 ปี

08 ก.ค. 2564 | 06:33 น.

จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยวานนี้ (7 ก.ค.) ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ประกาศแผนการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจำนวน 80 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็น วัคซีนบริจาคจากสหรัฐอเมริกา ว่า จำนวนวัคซีนที่ไทยจะได้รับจากสหรัฐรวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ กำลังจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการพร้อมกันระหว่าง กระทรวงการต่างประเทศของไทยและสหรัฐ ในเร็ว ๆนี้ รอความพร้อมของทางฝ่ายสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น กล่าวได้ว่าการมอบ ความช่วยเหลือด้านวัคซีน ในครั้งนี้ เป็นผลจากการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง และสะท้อนมิตรไมตรีที่ยาวนาน 188 ปีของทั้งสองฝ่าย  

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ

“การจัดหาวัคซีนเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยได้ใช้ช่องทางการทูตในการแสวงหาวัคซีนมาเพิ่มเติมให้กับประเทศไทย และได้พยายามเจรจาหารือเพื่อผลักดันความเป็นไปได้ของความร่วมมือด้านวัคซีนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การจัดซื้อ การรับความช่วยเหลือวัคซีน รวมถึงผลักดันการทำ vaccine swap กับหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และสหรัฐ” นายธานีกล่าว

สำหรับความร่วมมือด้านวัคซีนกับสหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งที่ส่วนกลางกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐที่เมืองหลวง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือเรื่องนี้กับผู้ช่วยของประธานาธิบดีซึ่งรับผิดชอบ Vaccine Diplomacy ที่ National Security Council ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ขอให้สหรัฐพิจารณาสนับสนุนการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทย

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกประเด็นการขอรับการจัดสรรวัคซีนอย่างเร่งด่วนสำหรับไทยกับนางเวนดี เชอร์แมน (Wendy Sherman) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดินทางมาหารือข้อราชการที่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ในการประชุมทวิภาคีที่สำคัญต่าง ๆ เช่น การหารือยุทธศาสตร์ไทย – สหรัฐ (Strategic Dialogue) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 ปลัดกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ผลักดันเรื่องความร่วมมือด้านวัคซีนไทย-สหรัฐนี้ด้วย

กระทั่งเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2564 รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศมอบความช่วยเหลือด้านวัคซีนจำนวนรวม 80 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้แถลงรายละเอียดเพิ่มเติมตามมาในวันที่ 21 มิ.ย.2564 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการรับมอบวัคซีนจากสหรัฐ โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบการจัดทำความตกลงกับสหรัฐเพื่อการรับมอบความช่วยเหลือวัคซีนดังกล่าว

 

ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียดกับหน่วยงานฝ่ายสหรัฐ และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมในการขนส่งและรับมอบวัคซีน รวมทั้งแผนบริหารจัดการและจัดสรรวัคซีนดังกล่าวในประเทศไทย

 

“การมอบความช่วยเหลือวัคซีนของสหรัฐให้กับประเทศไทยในครั้งนี้สะท้อนถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐ มายาวนานกว่า 188 ปี และได้มีความร่วมมือด้านการสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดมานานปี โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐได้ให้ความร่วมมือและการสนับสนุนต่าง ๆ แก่ไทยในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยรู้สึกขอบคุณในไมตรีจิตและความร่วมมือดังกล่าว” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว