‘การยาสูบ’ลุยกัญชง จับมือ ‘บ.เฮิร์บฯ-สมาคมบ่มใบยา’นำร่องปลูก-ขาย

28 มิ.ย. 2564 | 09:35 น.

    การยาสูบแห่งประเทศไทย จับมือบริษัท  เฮิร์บเทรเชอร์ จำกัด และสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบเชียงราย-พะเยา ส่งเสริมเกษตรกรปลูกกัญชง ดีเดย์นำร่องปลูกต้นปี 2565 ก่อนขยายให้เกษตรกรทั่วไป

การยาสูบแห่งประเทศไทย จับมือบริษัท  เฮิร์บเทรเชอร์ จำกัด และสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบเชียงราย-พะเยา ส่งเสริมเกษตรกรปลูกกัญชง ดีเดย์นำร่องปลูกต้นปี 2565 ก่อนขยายให้เกษตรกรทั่วไป


วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่สถานีทดลองยาสูบแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โครงการส่งเสริมการปลูกกัญชงเพื่อเสริมสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร กับบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด และสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ เชียงราย-พะเยามีนายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่า การ ยสท. เป็นประธาน
  ‘การยาสูบ’ลุยกัญชง จับมือ ‘บ.เฮิร์บฯ-สมาคมบ่มใบยา’นำร่องปลูก-ขาย    

ผู้ว่าการ ยสท.กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การยาสูบแห่งประเทศไทยบริษัท เฮิร์บ เทรเซอร์ จำกัด และสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบเชียงราย-พะเยา จึงพร้อมเดินหน้าโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรยาสูบและเครือข่ายวิสาหกิจในอุตสาหกรรมยาสูบ ได้มีโอกาสปลูกกัญชงด้วยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
    

ทั้ง 3 ฝ่าย จึงร่วมมือกันดำเนินโครงการทดสอบสายพันธุ์กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยนำร่องกับกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่การเพาะปลูก การบำรุงรักษา ตลอดจนเก็บเกี่ยวผลผลิต และการแปรรูปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ก่อนจะขยายโครงการไปยังพื้นที่เพาะปลูกยาสูบอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคตทดแทนจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ภายใต้พระราชบัญญัติสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้ประกอบการและวิสาหกิจ จากปริมาณการรับซื้อใบยาสูบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นวิกฤต รายได้ลดลงกว่า 50%
    

“เกษตรกรยาสูบตอนนี้มีประมาณ 13,500 ครัวเรือน มีคนที่เกี่ยวข้องประมาณ 400,000 กว่าคน แต่จะเริ่มที่เกษตรกรชาวไร่ที่ลงทะเบียนกับเราอยู่ก่อนแล้ว ที่เป็นโควตา บุคคลเหล่านี้ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบเป็นผู้ที่ช่วยประเทศชาติมากมาย เราไม่ได้ส่งเสริมให้สูบบุหรี่แต่เมื่อยังมีผู้บริโภคบุหรี่อยู่ ก็อยากให้สูบบุหรี่ไทยที่มาจากเกษตรกรชาวไร่ไทยซึ่งเงินส่วนหนึ่งก็นำมาช่วยประเทศชาติ”
  ‘การยาสูบ’ลุยกัญชง จับมือ ‘บ.เฮิร์บฯ-สมาคมบ่มใบยา’นำร่องปลูก-ขาย    

‘การยาสูบ’ลุยกัญชง จับมือ ‘บ.เฮิร์บฯ-สมาคมบ่มใบยา’นำร่องปลูก-ขาย

นายภาณุพล กล่าวด้วยว่า รวมทั้งได้ลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อจะคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามที่คนซื้อต้องการนอกจากนี้ได้รับความร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้าปลายนํ้า เพื่อจะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกัญชงในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป
    

โดยวางเป้าหมาย ถ้าเริ่มปลูกได้ต้นปี 2565 จะใช้เวลา 4 เดือนในการปลูก จากนั้นแปรรูปเพื่อส่งขาย จะมีการติดตามเก็บตัวเลขให้ชัดเจนว่าที่เราส่งเสริมไปเกษตรกรได้รายได้ต่อไร่ต่อกลุ่มที่นำร่องปลูกเป็นจำนวนเท่าไหร่ และสุดท้ายจะขยายวงกว้างขึ้นไปอีกเพียงใด
    

ด้านนางรมย์ชลี จันทร์ประสิทธิ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮิร์บ เทรเซอร์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์ส่วนใหญ่จะมาจากยุโรป อเมริกา อิสราเอลมีทั้งหมด 12 สายพันธุ์ และเราทดลองปลูกมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติให้เอกชนเข้ามาทำ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ตอนนี้เราสามารถที่จะเอาสายพันธุ์ต่างๆ มาร่วมพัฒนาต่อยอดกับการยาสูบแห่งประเทศไทยและสมาคมฯ เพราะฉะนั้นคิดว่าปลายปี 2564 เราคงจะได้สายพันธุ์ที่เหมาะสม ต้นปี 2565 เกษตรกรของยาสูบและเกษตรกรทั่วไป ก็สามารถที่จะปลูกได้แล้ว
   
ส่วนเรื่องตลาดมีโอกาสมาก เพราะไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่กฎหมายเปิดให้ทำได้แล้ว จึงมั่นใจว่าจะหาตลาดได้แน่นอน ทั้งตลาดในประเทศที่ยังมีความต้องการอีกเยอะ หรือการส่งออกที่เราเป็นบริษัทเดียวในประเทศ ที่ได้รับใบอนุญาตส่งออก เชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้ส่งออกกัญชงรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย
  

 ด้านนายสุระ พิมสาร นายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบเชียงรายและพะเยา กล่าวว่า สมาคมฯดำเนินการเรื่องขอใบอนุญาตปลูกไปแล้ว ตอนนี้ยังติดปัญหาเมล็ดพันธุ์ที่ยังนำเข้าไม่ได้ หากทางบริษัท เฮิร์บเทรเซอร์ สามารถนำเมล็ดพันธุ์ให้เราได้ก็พร้อมทดลองปลูกต้นปีหน้าในพื้นที่ของสมาชิกสมาคมฯ ซึ่งมีอยู่ 10 รายเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ และยังสามารถขยายไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่อยู่นอกพื้นที่ได้ด้วย ซึ่งมีความพร้อมสูง เพราะปลูกใบยาสูบมา 20-30 ปี มีเครื่องจักรเครื่องมือค่อนข้างครบ ถ้ามีเมล็ดพันธุ์มีความรู้ เราก็สามารถดำเนินการได้เลยตอนนี้รอใบอนุญาตอย่างเดียว
    

ทั้งนี้ บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัดได้รับใบอนุญาตนำเข้า ใบอนุญาตปลูก และใบอนุญาตส่งออกไร่กัญชงแห่งแรกของบริษัทฯ อยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจกัญชงที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ 400 ไร่ ปัจจุบันบริษัทได้รับติดต่อขอซื้อสารสกัดกัญชงเป็นจำนวนมากกว่า 20,000 กก. ต่อปี ซึ่งจะช่วยสนับ สนุนผลผลิตของเกษตรกรภายใต้เครือข่ายของการยาสูบแห่งประเทศไทย 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27-30  มิถุนายน พ.ศ.2564  หน้า 10 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง