Fake NEWs เหยื่อโควิด “อินเดีย” ลอยออกสู่ทะเล ชี้เป็นไปได้ยาก

09 มิ.ย. 2564 | 16:00 น.

​​​​​​​เปิดแถลงการณ์ “สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” สยบข่าวแจ้งเตือน "หยุดบริโภคอาหารทะเล" หลัง มีการส่งแชร์เหยื่อโควิดอินเดีย ติดอวน ทะเล ว่อนโซลเซียล ชี้เป็นไปได้ยาก

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย แถลงการณ์ กรณี Wการทิ้งศพผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศอินเดีย" ลงในแม่น้ำคงคาทำให้เกิดผลกระทบต่ออาหารทะเลที่ขายในประเทศไทย ตามที่ปรากฎข่าวในสื่อสาธารณะต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณี มีประชาชนบางกลุ่มในประเทศอินเดียนำศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 ทิ้งลงในแม่น้ำคงคา ซึ่งต่อมามีผู้นำประเด็นดังกล่าวมาเป็นมูลเหตุแจ้งเตือนผู้บริโภคในประเทศไทยให้ "หยุดบริโภคอาหารทะเล" จนมีการเผยแพร่และส่งต่อ ๆ กันในสื่อสังคมออนไลน์จนขยายเป็นวงกว้าง นั้น

 

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนชาวประมงของไทย ขอให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงดังนี้

 

1.ประเทศไทย อยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศอินเดีย (แผ่นดินใหญ่) เป็นระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากปากแม่น้ำคงคาในประเทศบังคลาเทศ เป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร

 

2.จากข่าวที่ปรากฏ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลจากข่าวทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศแล้ว "ไม่พบข่าวว่ามีการ "ทิ้งศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 ลงทะเล" ที่ประเทศอินเดีย ตามที่มีการกล่าวอ้างกันแต่อย่างใด มีเพียงข่าวการทิ้งศพลงใน "แม่น้ำคงคา" ที่มีความยาวตลอดเส้นทางประมาณ 2,500 กิโลเมตร และไหลลงสู่ทะเลมหาสมุทรอินเดียในบริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศบังคลาเทศ (ก่อนการระบาดของโควิด 19 ตามความเชื่อของชาวอินเดียมีการทิ้งศพลงในแม่น้ำคงคาเป็นปกติทุกวันอยู่แล้ว)

 

โดยจุดที่มีการทิ้งศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 ตามที่ปรากฎเป็นข่าว คือ บริเวณ "แม่น้ำคงคา" ที่อยู่ในรัฐพิหาร และ รัฐอุตรประเทศ ของประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลประมาณ (อย่างน้อย) 800 กิโลเมตร การที่ "ศพที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำคงคา" จะลอยออกสู่ทะเลได้จะต้องใช้เวลานานกว่า 3 สัปดาห์ซึ่งโดยธรรมชาติศพจะเน่าเปื่อยและจมลงก่อนที่จะลอยออกสู่ทะเล จึงเป็นไปไม่ได้ที่ "ศพ"นั้น จะกลายเป็นอาหารของ "ปลาทะเล" หรือสัตว์น้ำทะเลที่มีการออกมาแจ้งเตือนแต่ประการใด

 

3. สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวและภาพถ่ายว่ามีเรือประมงในประเทศมาเลเซีย ลากอวนได้ "ศพผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งถูกทิ้งลงในทะเลจากประเทศอินเดีย" นั้น จากการตรวจสอบของสมาคมฯ พบว่าแถลงการณ์ กรณี การทิ้งศพผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศอินเดีย ลงในแม่น้ำคงคาทำให้เกิดผลกระทบต่ออาหารทะเลที่ขายในประเทศไทย

 

3.1 ไม่มีการยืนยันว่า "ศพที่ติดอวนขึ้นมานั้น ติดอวนขึ้นมาเมื่อใด และจากบริเวณไหนของประเทศมาเลเชีย" หรือเป็นเรือประมงของมาเลเซียจริงหรือไม่

 

3.2 การพบศพที่ติดอวนขึ้นจากทะเลนั้น มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักจะเป็นศพของคนที่ตกน้ำและหายไปในทะเล ที่มิใช่ตกน้ำหรือถูกทิ้งจากฝั่ง แล้วถูกพัดลอยออกไปในทะเล

 

3.3 ไม่มีการยืนยันว่า ศพที่พบดังกล่าว "เป็นศพที่ติดเชื้อโควิด 19 และทิ้งลงในทะเลจากประเทศอินเดีย"

 

3.4 จากข้อมูลข้างต้นในข้อ 1 และ 2 ประเทศมาเลเซีย อยู่ห่างจากประเทศอินเดีย ไกลกว่าประเทศไทย ประมาณ 1,000 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีศพลอยออกจาก "แม่น้ำคงคา" มาถึงทะเลในประเทศมาเลเซียได้

 

3.5 จากการวิเคราะห์ภาพเรือประมงตามที่ปรากฎในข่าวที่มีการส่งต่อกันในสื่อต่าง ๆ พบว่า(หากเป็นเรือประมงมาเลเชียจริง) เป็นเรือประมงที่ใช้เครื่องมืออวนลาก ซึ่งเป็นเรือประมงที่ใช้ทำการประมงกันในฝั่งอ่าวไทยหรือทะเลจีนใต้ของประเทศมาเลเซีย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีศพจาก "แม่น้ำคงคา" ติดอวนขึ้นมาบนเรือประมงที่ทำการประมงในฝั่งอ่าวไทยหรือทะเลจีนใต้ของประเทศมาเลเซีย ตามภาพถ่ายดังกล่าวได้ และหากมีศพลอยมาจากแม่น้ำคงคาลงสู่ทะเลจริง ก็ควรที่จะพบศพในฝั่งมหาสมุทรอินเดียของประเทศมาเลเซีย

 

3.6 จากข้อเท็จจริงและข้อเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่า "ข้อมูลตามข่าวดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง และไม่สมเหตุผลตามที่ได้นำเสนอไว้"

 

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไม่แน่ใจว่าผู้ที่ "สร้างข่าว" ต้องการจะสื่อสารประเด็นใดถึงผู้รับข่าวสาร ระหว่าง "ความน่ารังเกียจว่าปลากินศพ" หรือ "ความกลัวว่าจะบริโภคปลาที่ไปกินศพที่ติดเชื้อโควิด 19" เพราะมีความหมายที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าจะ "รังเกียจ" ว่า "ปลากินศพ" ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ที่อินเดียในบริเวณ "แม่น้ำคงคา" มีการ "โยนศพ" ทิ้งลงแม่น้ำทุกวันเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะเป็นความเชื่อของคนส่วนหนึ่งในประเทศนั้น

 

แต่ถ้าเป็นประเด็น "ความกลัว" ว่า "ปลากินศพที่ติดเชื้อโควิด 19" แล้ว หากคนกินปลานั้นเข้าไปแล้วจะทำให้ติดโรคโควิด 19ด้วยนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่า "เป็นข้อเท็จจริง" เพราะที่เคยมีข้อมูลก็เป็นเพียงการ "ติดเชื้อโควิด 19" นั้น เกิดจาก "การสัมผัส" เชื้อโรคที่ "ตกค้างในภาชนะหรือวัสดุที่ห่อหุ้มสัตว์น้ำ" เท่านั้น

 

หากนำมาปรุงสุกด้วยความร้อน ก่อนการบริโภคก็สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ หลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก คือ การติดต่อของเชื้อโควิด 19 เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูกหรือปาก เข้าสู่ระบบ "ทางเดินหายใจ" ไม่ใช่ระบบ "ทางเดินอาหาร (การกิน)" โดยการบริโภคแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานหรือมีการค้นพบในโลกว่ามี "สัตว์น้ำติดเชื้อโควิด 19 " หากจะคิดในเชิง "ตรรก" ว่าถ้า "ปลากินศพที่ติดเชื้อโควิด 19" แล้ว ปลาจะติดเชื้อโควิด 19 ด้วยนั้น ปลาก็จะตาย จึงไม่มีโอกาสที่จะถูกจับมาขาย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะคนไทยจะติดเชื้อโควิด 19 จากการบริโภคอาหารทะเล ตามที่เป็นข่าวแถลงการณ์ กรณี การทิ้งศพผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศอินเดีย ลงในแม่น้ำคงคาทำให้เกิดผลกระทบต่ออาหารทะเลที่ขายในประเทศไทย

 

 สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอยืนยันว่า "การทิ้งศพลงแม่น้ำคงคา" ไม่มีผลกระทบต่อ"อาหารทะเล" ในประเทศไทย ด้วยเหตุผล คือ (1) ระยะเวลาที่ศพจากแม่น้ำคงคาจะลอยออกสู่ทะเลมหาสมุทรอินเดีย นั้น ศพจะถูกย่อยสลายและจมลงแม่น้ำก่อนแล้ว จึงไม่เป็นอาหารของสัตว์น้ำและปลาทะเล (2 จากองค์ความรู้ของกรรมการสมาคมฯ มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า "ปลาจะไม่กินของเน่าเปื่อย (ศพ) เพราะปลาส่วนใหญ่กินพืชหรือสัตว์ (สด) มากกว่า" (3) ในปัจจุบัน ไม่มี

 

คนไทยไปทำการประมงในประเทศอินเดีย (4 ประเทศไทย มีการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศอินเดียน้อยมาก (ประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณสัตว์น้ำที่ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศในแต่ละบี) และส่วนใหญ่จะมาจากรัฐทางใต้ของประเทศอินเดีย ไม่ใช่รัฐทางด้านเหนือของประเทศที่มี "การทิ้งศพที่ติดเชื้อโควิด 19 ลงแม่น้ำคงคา" ฯลฯ ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอยืนยันว่าข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "การทิ้งศพลงแม่น้ำคงคา" หรือ "การทิ้งศพลงในทะเล" ในประเทศอินเดีย และการ"พบศพผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ติดอวนขึ้นมาบนเรือประมง" ในประเทศมาเลเซีย นั้น เป็นข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความตื่นกลัว และนำมาเป็นประเด็นเตือนให้ "คนหยุดบริโภคอาหารทะเลในประเทศไทย"ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่า การโพสต์หรือส่งต่อข้อความดังกล่าว "เป็นการทำร้ายชาวประมงโดยไม่รู้ตัว" เพราะทำให้คนส่วนหนึ่งตื่นกลัว "ไม่กินอาหารทะเล" ไปตามข่าวแล้ว

 

ยังมีผลทำให้ชาวประมงไทยที่เป็นผู้จับปลาหาอาหารทะเลมาให้คนไทยบริโภค ต้องเดือดร้อนขายผลผลิตไม่ได้ หรือขายได้น้อยลง ทำให้ราคาตกต่ำ(อาจ) ทำให้การประกอบการขาดทุน และได้รับผลกระทบจากการสร้างข่าวดังกล่าว จึงขอให้สาธารณชนได้ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารด้วยความมีสติ และไม่ตื่นตระหนก สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เคารพในความเห็นต่างของบุคคลในสังคม

 

แต่เห็นว่าความเห็นตามประเด็น เตือนผู้บริโภคในประเทศไทยให้ "หยุดบริโภคอาหารทะเล" อันเนื่องมาจากมีการทิ้งศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 ทิ้งลงในแม่น้ำคงคา นั้น มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใดเลย แต่ในทางกลับกันเป็นความเห็นที่ทำร้ายชาวประมงไทย และผู้ค้าสัตว์น้ำในยามที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประชาชนอยู่ในภาวะตกต่ำฝืดเคือง ซึ่งความเป็นวิญญูชนนั้น ไม่ควรทำ ควรที่จะได้มีการตรวจสอบให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะในวงกว้างจึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามได้จากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย โดยตรง ซึ่งสมาคมฯ พร้อมที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเสมอ