CPAC BIM ผลักดันนวัตกรรมวงการแพทย์ รับมือโควิด-19

26 ม.ค. 2564 | 12:29 น.

CPAC BIM ผลักดันนวัตกรรมก่อสร้าง หนุนวงการแพทย์ ชูโซลูชั่นห้องแยกและควบคุมเชื้อ ตอบโจทย์ลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่

การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 กำลังสร้างความกังวลให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าครั้งแรก การแก้ปัญหาแบบทันสถานการณ์ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งภาครัฐและวงการแพทย์ต้องเร่งแก้ ไม่เว้นแม้แต่ภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนและสร้างนวัตกรรมมาช่วยรับมือ

 

นายวีรกร สายเทพ CPAC BIM Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) เปิดเผยว่า บริษัทได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างมาพัฒนาต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหาด้าน Medical Solution เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ที่เร่งด่วน  ซึ่งปัญหานี้ต้องลงมือทำทันที จึงได้นำศักยภาพที่มีในหลายด้านมาต่อยอดช่วยเหลือบุคลากรทางแพทย์หรือหน่วยงานสาธารณสุข ภายใต้เงื่อนไขการทำงาน Speed with Good Enough Quality 

 

วีรกร สายเทพ

 

Medical Solution by CPAC BIM เป็นการออกแบบสร้างและปรับปรุงห้องแยกและควบคุมเชื้อเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยมีจุดเด่นคือการนำ Digital และ Construction Technology เข้ามาช่วยในการวางแผน และ กระบวนการก่อสร้าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์และผู้ใช้งานห้องด้านความปลอดภัย และยังสามารถสร้างได้รวดเร็ว ควบคุมงบประมาณได้ ปัจจุบันได้พัฒนาห้องแยกและควบคุมโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 2 รูปแบบคือ

 

คลินิกแยกโรคติดเชื้อแบบสำเร็จรูปพร้อมติดตั้ง (Acute Respiration Infection Outdoor Clinic, ARI Outdoor Clinic) ภายในมีการแบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนทั้งการคัดกรอง ตรวจเชื้อ และเก็บเชื้อ ซึ่งแยกเส้นทางระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยออกจากกัน     เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์  ผสานด้วยการนำเทคโนโลยีระบายอากาศความดันลบและความดันบวกมาใช้ เป็นการป้องกันไม่ให้อากาศที่มีเชื้อโรคไหลเวียนเข้ามาในพื้นที่  เพื่อมิให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่บุคลากรและผู้ป่วยคนอื่นๆ ในโรงพยาบาล

 

คลินิกแยกโรคติดเชื้อ

 

ห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ (Airborne Infectious Isolation Room,  AIIR) แบบสำเร็จรูปแบบพร้อมติดตั้ง โดยหลักการทำงานจะใช้เทคโนโลยีความดันลบ เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อโรคภายนอกเข้ามาให้ห้อง และหากมีเชื้อโรคภายในห้อง ระบบกรองอากาศจะฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก ตลอดจนจำกัดบริเวณการไหลเวียนของเชื้อโรคได้     จึงมั่นใจว่าห้องบุคลากรทางการแพทย์จะปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ อากาศที่ปล่อยออกไปไม่มีเชื้อโรคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้วเสร็จที่โรงพยาบาลสระบุรีและโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

 

ห้องแยกติดเชื้อความดันลบ

 

“การระบาดของโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงรอช้าไม่ได้ที่จะปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้ เชื่อว่า 2 นวัตกรรมที่ CPAC BIM คิดค้น จะทำให้เกิดประโยชน์ด้านการแพทย์อย่างมหาศาล เนื่องจากตอบโจทย์ความรวดเร็วในการก่อสร้างให้ถ้วงทันกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญได้มาตรฐานที่บุคคลากรแพทย์สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย”นายวีรกรกล่าว

 

ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดี  คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัย   นวมินทราธิราชกล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้  การป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ได้รับเชื้อและแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นในโรงพยาบาล ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนในการยับยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งทางโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต และ CPAC BIM นำความเชี่ยวชาญมาพัฒนานวัตกรรมห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบในแบบ Modified Version  ซึ่งเป็นนวัตกรรมของคนไทย ตอบโจทย์ทั้งเวลาที่จำกัด งบประมาณที่ไม่สูงมาก และเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขและกรมการแพทย์

 

 “โควิด-19 เสมือนสึนามิของการแพร่ระบาดเชื้อ หมอมองว่าทำอย่างไรให้รวดเร็วทันสถานการณ์ การสร้างห้องแยกโรคติดเชื้อความดันลบ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งเรารอไม่ได้ แต่ Modified Version ที่ CPAC BIM ได้นำเสนอกับโรงพยาบาล มีความเป็นไปได้ ตอบโจทย์ความเร็ว งบประมาณ และตรงตามมาตรฐานของ Negative Pressure Room ”ผศ.นพ.อนุแสงกล่าว