"เรียนรู้คุณค่าความมหัศจรรย์ของ อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติร้อยล้านปี"

24 ม.ค. 2564 | 04:00 น.

บทความพิเศษ : "เรียนรู้คุณค่าความมหัศจรรย์ของ อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติร้อยล้านปี"

"ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ มีทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า ชั้นหิน รวมไปถึงร่องรอยซากสิ่งมีชีวิต ดึกดำบรรพอันน่าค้นหา น่าเรียนรู้ความมหัศจรรย์ของผืนป่า "อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติล้านปี" หนึ่งในสารคดีชุด มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ที่ได้ชวนทุกคนไปท่องดินแดนถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ป่าหายากของโลก พร้อมการผจญภัยตามรอยบันทึกแห่งวิวัฒนาการทางธรณีวิทยาและชีววิทยาของทวีปเอเชีย
"เรียนรู้คุณค่าความมหัศจรรย์ของ อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติร้อยล้านปี"
นายกนก อินทรวิจิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) หนึ่งในผู้บริหารที่พาเราเที่ยวชมป่า เรียนรู้ธรณีโลก เล่าว่ากลุ่มปตท.ถือเป็นกำลังสำคัญในงานด้านธรณีวิทยา เพื่อการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ “การชมธรณีโลกครั้งนี้สมาคมอุทยานแห่งชาติ ได้เชิญอาจารย์นเรศ สัตยารักษ์ อดีตนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยเข้าร่วมเดินกับผมด้วย อาจารย์นเรศคือนักธรณีวิทยารุ่นแรกที่ศึกษาและสะสมองค์ความรู้ทางธรณีในภาคอีสานมาอย่างช่ำชอง ไม่เพียงข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งผลิตปิโตรเลียมเท่านั้น แต่รวมถึงประเภทของหินและการเกิดของเปลือกโลก ที่เรียกว่า ที่ราบสูงโคราช เป็นความรู้พื้นฐานสำคัญสำหรับนำไปปรับใช้ เพื่อการเกษตรหรือการพัฒนาแหล่งน้ำได้  โดยได้ไปหลายพื้นที่ เริ่มด้วยทุ่งกระทิง ใกล้กับอุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ที่คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม ที่เหมาะแก่การนำไปทำเกษตร หรือปรับปรุงให้เป็นแหล่งน้ำ แต่ที่จริงแล้วป่าไม้ที่เห็นอยู่นั้น ซ่อนไว้ซึ่งโป่งน้ำที่พบรอยเท้ากระทิงและสัตว์อื่นมากมาย 

 

ทั้ง ๆ ที่ผืนดินมีต้นกำเนิดมาจากหินทรายทั้งเทือก เพราะฉะนั้น ถ้าจะสร้างเขื่อนบนหินทรายคาดหวังให้กักเก็บน้ำได้ลำบากมาก อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมี ละลุ ตลอดแนวยาวไปถึงเขตประเทศกัมพูชา ถ้าจะเก็บกักน้ำๆจะซึมออกหมดทุกทิศทาง ดังนั้น ในฐานะนักธรณีวิทยาขอยืนยันว่า บริเวณนั้นกักน้ำไม่ได้พื้นดินที่เป็นหินทรายนี้ เกิดขึ้นจากแม่น้ำสมัยหลายร้อยล้านปีมาแล้ว มันเป็นหินทรายที่เหมือนกันระหว่าง จุดชมวิวผาแดง อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว กับช่องตะโก และเขาสะแกกรอง ซึ่งเมื่อหลายล้านปีก่อนมันเคยเป็นผืนเดียวกัน  “จากการยกตัวของทวีปและการกัดเซาะของน้ำหลากและน้ำฝน ทำให้เกิดเป็น ละลุ คือ ส่วนที่มีความแข็งและทนการกัดเซาะได้จะคงอยู่ อุทยานแห่งชาติตาพระยาจึงเป็นเฉพาะส่วนที่เราเห็น แต่ลักษณะที่เป็น ละลุ นี้จะมีไปตลอดแนวขนานไปกับสันเขา ที่อยู่ระหว่างตาพระยากับบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก ยากที่จะได้ผลผลิต และหากรัฐจะลงทุนสร้างแหล่งน้ำก็ยากที่จะเก็บน้ำให้อยู่ พื้นที่ป่าบริเวณนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะเก็บไว้ให้เป็นป่าตามธรรมชาติต่อไป

"เรียนรู้คุณค่าความมหัศจรรย์ของ อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติร้อยล้านปี"

นายกนก เล่าต่อ ว่าตนได้เดินทางไปยัง แหล่งอุตสาหกรรมการตัดหินในยุครุ่งเรืองของอาณาจักรขอมด้วย เป็นลานหินทรายที่มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ คนท้องถิ่นเรียกว่า “ลานหินตัดสระเพลง”  ที่เป็นแหล่งสกัดหินทรายไปสร้างปราสาท บันเตีย ชมาร์ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดบันเตีย เมียนเจย ประเทศกัมพูชา" ด้วยลักษณะของแนวชั้นหินทรายหนา มีหลายชั้น ทับไปทับมา น่าจะเกิดจากแม่น้ำสายเดียว แต่เปลี่ยนทิศทางไหล ต้องเป็นแม่น้ำที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ ท้องน้ำที่ตกตะกอนเชื่อมกันกลายเป็นลานหินทรายใหญ่ แต่ละชั้นต้องใช้เวลาเป็นหมื่นปี  และถ้าดูในแผนที่จะเห็นว่า แนวหินทรายแบบนี้เริมตั้งแต่ ปากช่อง วังน้ำเขียว จนมาถึงที่นี่ และต่อไปถึง พนมกุเลน เชิงเนินที่ตั้งของนครวัดนครธม ที่เกิดขึ้นประมาณ 200 ล้านปีที่แล้ว" นายกนก เล่า

 

คุณกนกเล่าต่ออีกว่าเมื่อเดินทางมาถึงอำเภอวังน้ำเขียวตนได้ไปเหมืองเทพประทานพร พบไม้กลายเป็นหินกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เหมืองหินนี้มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่  ดำเนินการโดยครอบครัวเล็ก ๆ แต่สร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี พวกเขาเคยใช้ที่ตรงนี้ปลูกพืชไร่ แต่ด้วยการไถ แปร พรวนดิน ทำให้หน้าดินถูกกัดเซาะหายไปหมด เห็นหน้าหินและลานหินจึงผันวิถีทำกินมา เป็นรูปแบบแปรรูป แกะสลัก สร้างบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ 

"เรียนรู้คุณค่าความมหัศจรรย์ของ อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติร้อยล้านปี"
นายกนก เล่าอีกว่า ที่วังน้ำเขียวนั้นตนได้เดินทางต่อไปที่น้ำตกห้วยใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ด้านบนเรียกว่า น้ำตกม่านฟ้า เป็นหน้าผาหินทราย ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ บางและหนาสลับกันไปมา ด้านล่างลงมาที่น้ำตกห้วยใหญ่เป็นหินที่มีต้นกำเนิดต่างกัน แต่มารวมอยู่ด้วยกัน คือ บางส่วนเกิดจากอิทธิพลของแม่น้ำ บางส่วนเกิดจากอิทธิพลของภูเขาไฟ  เหมือนมีสองภูมิภพการเกิดของชั้นหิน คือ  อเวจีภูมิ กับ ธาราภูมิที่สนุกไปกว่านั้น เมื่อได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในยุคโบราณประมาณ 290- 260 ล้านปี บริเวณนี้เต็มไปด้วยร่องแนวและปล่องภูเขาไฟ ที่น้ำตกผากล้วยไม้ เป็นหินที่เกิดจากหินหนืดภูเขาไฟที่ไหลไปเย็นตัวไป ต่างไปจากน้ำตกเหวสุวัต ซึ่งเป็นหินกรวดมนภูเขาไฟที่ปะทุขึ้นและตกลงมาเย็นตัว แต่เกิดการตกตะกอนจับตัวกันเป็นหินอีกที 

 

ขอเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวที่ไปเขาใหญ่สังเกตดูความแตกต่างของหินที่น้ำตกสองแห่งนี้ด้วยนักธรณีวิทยาพิสูจน์ได้ว่า ในยุค 290-260 ล้านปีที่แล้ว บริเวณพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่และพื้นที่รอบข้าง มีสภาพเป็นทะเล  เนื่องจากพบซากฟอสซิลของปะการัง หอยสองฝา พลับพลึงทะเล และซากสิ่งมีชีวิตที่จมลงไปสู่ท้องทะเลจำนวนมาก ยิ่งได้เจอซากฟอสซิลที่เรียกว่า ข้าวสารพระร่วงหรือคตข้าวสาร ทำให้ทราบว่าสาหร่ายนี้มีชีวิตอยู่เมื่อราว 290-250 ล้านปี เพราะหลังจากสาหร่ายนี้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว และยังมีฟอสซิลอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ที่นี่เคยเป็นน้ำทะเลตี้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก หลังการยกตัวขึ้นมาเป็นแผ่นดิน ตามมาด้วยการปะทุและระเบิดของภูเขาไฟ 

"เรียนรู้คุณค่าความมหัศจรรย์ของ อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติร้อยล้านปี"

ดังหลักฐานที่พบได้ที่น้ำตกเหวสุวัตและผากล้วยไม้ วิวัฒนาการของโลกในยุคนั้นดำเนินต่อมา คือ ภูเขาไฟสงบลง บริเวณที่เป็นบ้านซับพลู อ.ปากช่อง ได้เกิดแอ่งทะเลสาบน้ำจืด ปัจจุบันพบ หินที่มีฟอสซิลสิ่งมีชีวิตโบราณ ทั้งพืชและสัตว์แทรกตัวอยู่มากมาย อาทิ  stromatolites สาหร่ายซึ่งเป็นผู้สร้างออกซิเจนในบรรยากาศทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนบกที่มีวิวัฒนาการต่อมาเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ เช่น พืชตระกูล “มอสส” เป็นพืชบกขนาดเล็กที่ไม่มีลำต้นแท้จริง ไม่มีท่อลำเลียง ไม่มีดอก ขยับขึ้นมาเป็นพืชตระกูลเฟิร์น ที่เริ่มมีลำต้น มีราก มีท่อลำเลียง แต่ไม่มีดอก ถัดมาเป็นพืชตระกูลปรง ที่มีลำต้น แต่มีดอกที่เพศไม่สมบูรณ์ และรวมถึงวิวัฒนาของสัตว์ต่าง ๆ จากยุคไดโนเสาร์ ก่อนและหลังจากที่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มนุษย์เราเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เดินสองขา หลังตั้งฉากกับพื้น กำเนิดมาในโลกหลังเพื่อนที่สุด นั่นเอง

 

ด้วยการยกตัวของแผ่นดิน การกัดเซาะผุพังทำลายโดยธรรมชาติ ได้ก่อให้เกิดสันฐานภูมิประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ แปลกตา และสวยงาม นับเป็นส่วนหนึ่งของความโดดเด่นทางธรรมชาติ ของกลุ่มป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ถัดจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง"ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ตลอดช่วง200 กว่าล้านปีจนถึงปัจจุบัน  

 

ธรณีวิทยาของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นเสมือนมรดกโลกร้อยล้านปี ที่ควรจะมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และทำให้ ผู้เข้าชมป่าไม้และสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ได้รับความรู้ด้านธรณีวิทยาและร่วมกันถ่ายทอดไปสู่ทุกคน ขอเรียนว่าธรรมชาติ ดิน หิน ทราย น้ำ ป่าไม้ อากาศ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว ความรู้เกี่ยวธรรมชาติเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง เพื่อเลือกวิถีทางการดำรงชีพ และเลือกประกอบอาชีพที่ไม่ฝืนธรรมชาติ  เพิ่มความเป็นไปได้ในการทำกำไรจากการลงทุนที่มีธรรมชาติเกื้อหนุน การลงทุนใด ๆ ควรฝืนธรรมชาติให้น้อยที่สุดครับ "นายกนก กล่าวทิ้งท้าย

 

สามารถรับชม สารคดีมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตอน  “อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติล้านปี" และตอนอื่นๆได้ทางช่อง NEW 18  หรือติดตามชมย้อนหลังได้ที่ Facebook Fanpage : สมาคมอุทยานแห่งชาติ - NPAT และทางช่องYoutube : National Park Association
"เรียนรู้คุณค่าความมหัศจรรย์ของ อุทยานธรณีโลก มรดกธรรมชาติร้อยล้านปี"