LPN ชง11ข้อปรับเกณฑ์"จดทะเบียน"แรงงานต่างด้าว

16 ม.ค. 2564 | 10:48 น.

ผอ.มูลนิธิ LPN เสนอ 11 ข้อปรับปรุงเงื่อนไขจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ ชี้ค่าใช้จ่ายต่อหัวถึง 1.5 หมื่นบาท แรงงานสู้ไม่ไหวในยามนี้ที่ทั้งตกงาน-ขาดรายได้  ให้ดูแลเชิงมนุษยธรรมเป็นหลัก หวังให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ทุกฝ่าย

สมพงค์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิ LPN หนุน รัฐมาถูกทางการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ ที่มีแรงงานลักลอบเข้าเมืองสะสมกว่า 1.5 ล้านคน  เสนอ 11 ข้อเพื่อ"ปรับแต่ง"มาตรการให้เปิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับทุกฝ่าย   ชี้ค่าใช้จ่ายต่อหัวถึง 1.5 หมื่นบาท แรงงานสู้ไม่ไหวในยามนี้ที่ทั้งตกงาน-ขาดรายได้  ให้ดูแลเชิงมนุษยธรรมเป็นหลัก 

 

นายสมพงค์  สระแก้ว  ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน  (LNP) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งใหม่ของรัฐบาลนั้น เดินมาถูกทางแล้ว แต่ถ้าทำตามกระบวนการที่วางไว้ จะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงควรเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับเงื่อนไข-วิธีการใหม่จะดีไม่น้อย จึงขอเสนอรายงานที่ชื่อ "กลับหัวคิดกับข้อเสนอเชิงนโยบายการจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ในห้วงสถานการณ์การระบาดหนักของโควิด 19 ในประเทศไทย (1) "เพื่อให้เกิดประโยชน์สุงสุดกับทุกฝ่าย  

เนื่องจากตอนนี้ แรงงานต่างด้าวขาดแรงจูงใจในการต่อทะเบียนแรงงาน อุปสรรคสำคัญคือ ตัวแรงงานต่างด้าวไม่มีเงินมากพอที่จะมาใช้จ่ายในการต่อทะเบียน เนื่องจากเวลานี้รายจ่ายที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ในครอบครัว และชีวิตการงานก็หนักหนามากแล้ว ในภาวะที่ยังไม่มีงานทำ หรือมีงานแต่รายได้ไม่แน่นอนเหมือนเดิม 
          
รายงานดังกล่าวระบุว่า  แนวทางการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวภายในประเทศ กรณีที่คนต่างด้าวมีนายจ้างและไม่มี  และไม่ได้ทำงาน  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา นายจ้างส่วนใหญ่สะท้อนว่า มีค่าใช้จ่ายแพงเกินไป โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กำหนดจ่ายทีเดียวควบ 2 ปี ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ดีใจได้เพียงข้ามอาทิตย์  เปลี่ยนมาบ่นหนักปรับทุกข์ เพราะผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งหยุดผลิต ไม่มีงานทำ ถูกลดค่าจ้างรายวัน สถานประกอบการประเภทบริการหลายแห่งปิดทำการ คำสั่งทางการไม่ให้แรงงานย้ายออกไปไหน ไม่มีรายได้ใหม่ ต้องใช้เงินเก็บมาประทังชีวิตจนไม่มีเงินเก็บเหลืออีกแล้ว โดยที่ก่อนหน้าก็จ่ายเงินไปรอบหนึ่งแล้ว  ไม่นับที่ถูกตีตราว่าเป็นผู้นำเชื้อร้ายนี้เข้ามาในประเทศไทย
           
“จากอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามแนวทางบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่  สำหรับ แรงงานที่อยู่ในกิจการทั่วไป ต้องเสียค่าใช้จ่าย จำนวน 9,180 บาท  สำหรับประมงทะเลเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 9,380 บาท โดยแบ่งเป็น 1.ค่าตรวจสุขภาพเก็บควบทีเดียว 2 ปี  ปีละ 500 บาท รวมเป็น 1,000 บาท ส่วนประมง 2 ปี  ปีละ 550 บาท รวมเป็น 1,100 บาท  
2.ค่าตรวจ Covid-19 จำนวน 3,000 บาท  
3.ค่าประกันสุขภาพปีละ 1,600 บาท รวม  2 ปี จำนวน 3,200 บาท 
4.ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน 2 ปี จำนวน 1,900 บาท 
5.ค่าจัดทำทะเบียนประวัติบัตรชมพู จำนวน 80 บาท 
6.ค่าหนังสือคนประจำเรือ สำหรับลูกเรือประมงจำนวน 100 บาท”
                      
 

ขั้นตอนจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่

กระบวนการจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ แบ่งเป็น 2 ระยะ  ตั้งแต่กระทรวงแรงงานรับแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้น กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564  และกระทรวงแรงงานรับยื่นคำขออนุญาตทำงานผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 กระทรวงมหาดไทย จัดทำทะเบียนประวัติ ภายใน 12 พฤศจิกายน 2564   
          
ส่วนกรณีคนต่างด้าวไม่มีนายจ้าง ยังไม่ได้ทำงาน ในระยะที่  2 มีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือ กระทรวงสาธารณสุขตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 แล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำทะเบียนประวัติ  เรียกว่า ทร 38/1 ภายใน 15 มิถุนายน 2554  หลังจากนั้น กระทรวงแรงงานยื่นคำขออนุญาตทำงานผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 13 กันยายน 2560  และกระทรวงมหาดไทยปรับปรุงทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564  และให้นายจ้างนำใบรับคำขออนุญาตทำงาน ไปปรับปรุงทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตร(บัตรสีชมพู)  ณ สถานที่กรมปกครอง  และกรุงเทพฯ กำหนด” 
          
หากพิจารณาดูกระบวนการและขั้นตอนระยะที่  1 ใช้เวลาสั้นมาก คือ เพียง 1 เดือนผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนระยะที่ 2 ดังกล่าวใช้เวลานานพอสมควร  เนื่องจากเงื่อนไขปัญหาการจัดการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  

จากการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ปัญหา และความต้องการของกลุ่มแรงงาน รวมถึงกลุ่มนายจ้างบางส่วน มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า ทุกคนอยากเข้าสู่ในระบบ เพียงแต่ว่าเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆไม่ได้เอื้ออำนวย ทั้งปัจจัยส่วนตัวและสภาพแวดล้อม  มาตรการของรัฐที่เข้มข้น  เงื่อนไขของค่าใช้จ่ายจำนวนมากเกือบหนึ่งหมื่นบาท ไม่นับรวมค่าบริหารจัดการของคนกลาง ที่คอยมาร่วมจัดการให้เรื่องการลงทะเบียน เพราะเชื่อว่ามีระบบนายหน้ามาดูแลจัดการ ดังนั้น ต้นทุนที่ต้องมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท คำถามคือ แรงงานข้ามชาติมีเงินเพียงพอหรือไม่ และต้องไม่ลืมว่ามากกว่าร้อยละ 95 แรงงานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย มีเพียงส่วนน้อยที่นายจ้างออกให้ เนื่องจากความผูกพันและเอื้ออาทรต่อกัน เงื่อนไขดังกล่าว จึงไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้รู้สึกอยากไปขึ้นทะเบียนแรงงาน

 ที่สำคัญแรงงานส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายวัน มีไม่ถึง 10 % ที่มีเงินเดือน ทำให้ต้องใช้แบบวันต่อวัน ไม่สามารถมีเงินเก็บหอมรอมริบได้มากนัก  แถมต้องมีค่าใช้จ่าย เรื่อง ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินที่ออมมาทั้งปีส่วนใหญ่ต้องมาเสียเป็นค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนแรงงาน  และส่วนใหญ่กว่า 70 %ทำเองไม่ได้ ที่ต้องใช้คนกลางช่วยทำให้ แม้กระทั่งฝ่ายนายจ้าง ทางการกำหนดเงื่อนไข เรื่องการจัดทำเอกสารต่าง ๆ  มากมาย จึงทำให้ทำเองได้ยาก การจดทะเบียนเป็นไปอย่างยากลำบาก
          
นายสมพงค์เสนอแนวคิดใหม่ กับทิศทางแก้ไขปัญหา และข้อเสนอ 11 ประการ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่แรงงานกำลังเผชิญ ในขณะเดียวกันยังเสมือนเป็นมาตรการการช่วยเหลือ คุ้มครอง เยียวยา การตรวจคัดกรองโรค 100 เปอร์เซ็นต์ และให้สามารถขึ้นมาอยู่ในระบบการบริหารจัดการที่ดีได้  คือ
          
1. กระทรวงสาธารณสุข ต้องลดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาเหลือ 1 ปี ในกรณีการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ พร้อมสแกน 100 เปอร์เซ็นต์  เพื่อบริการการตรวจโรคโควิด-19 ฟรี เนื่องจากกลุ่มแรงงานมีความเสี่ยงสูง มีอัตราการแพร่ระบาดมาก รวมถึงเป็นการสร้างแรงจูงใจ สร้างความไว้ใจ ในมิติของการคุ้มครองทางสังคมแรงงานข้ามชาติ
           
2. ในระยะแรก ขั้นตอนแรกรัฐบาลควรเร่งประชาสัมพันธ์ ให้แรงงานข้ามชาติทุกคนที่หลุดจากระบบ คาดว่าจะมีจำนวนประมาณกว่า 500,000 คน ที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง และรวมถึงแรงงานที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ที่พำนักอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้แล้วในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ให้ทำทะเบียนประวัติออนไลน์กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (จัดทำ ทร. 38/1)  และให้รีบประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้ารับ การตรวจสุขภาพ และตรวจ คัดกรองโรคโควิด-19  โดยเร็ว เนื่องจากการแพร่ระบาดไม่รอเวลาและสถานที่ใดๆ 
          
3. กรณีผู้ที่ผ่านการตรวจโรค มีใบรับรองการตรวจโรคว่าปลอดจากเชื้อโควิด-19 ให้กระทรวงแรงงานรับต่อในการจดทะเบียนแรงงานโดยทันที  ภายใต้เงื่อนไขของการมีนายจ้าง ส่วนผู้ที่ยังไม่มีนายจ้าง เมื่อผ่านการตรวจตัดกรองโควิด-19 แล้ว  รีบแจ้งให้สถานประกอบการ หรือนายจ้างที่สนใจ ต้องการรับแรงงานไปทำงานต่อได้  แล้วนำเข้าสู่การจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานในระยะเวลา 1 ปี 
           
4. ให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีการตรวจโรค แล้วพบว่ามีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อ ให้สามารถบูรณาการประสานกับนายจ้าง เพื่อการบริหารจัดการดูแลรักษาต่อไปได้ทันท่วงที  ปัจจุบันเมื่อตรวจพบแล้วการแจ้งผลย้อนกลับ ผู้ติดเชื้อไม่สามารถให้ข้อมูลนายจ้าง และสถานที่พักได้มากนัก ซึ่งมีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อต่อ 5. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาดูแลผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นคนไทย กลุ่มประชากรข้ามชาติ ที่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ รวมถึงดูแลจัดการบริเวณที่พักอาศัย ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกรมการปกครอง องค์กรปกครองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
          

 

ขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่

6. ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลคุ้มครองประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อสามารถนำเงินมาบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพและอย่างต่อเนื่อง  ส่วนในปีที่  2 ในกรณีที่มีการจ้างงานต่อ  และแรงงานที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย ให้มีแนวทางการเข้าสู่ระบบประกันสังคม กับกระทรวงแรงงาน ตามปกติตามประเภทกิจการต่าง ๆ 
          
7. ให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการจัดจ้างล่ามภาษา แก่โรงพยาบาลประจำจังหวัด และหรืออำเภอ ในกรณีพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก และรวมถึงปัจจุบันที่มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม ให้มีการจัดจ้างล่ามภาษาเมียนมาหรือกัมพูชาเป็นประจำ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 
          
8. ให้กระทรวงแรงงาน นำเงินกองทุนประกันสังคม ซึ่งเก็บไปก่อนหน้านี้ แต่ส่วนใหญ่แรงงานหลุดออกจากระบบแล้ว รวมถึงเงินกองทุนส่งกลับแรงงาน และหรือเงินกองทุนอื่น ๆ นำมาบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แก่แรงงาน ที่กำลังประสบปัญหาไปทั่วประเทศในขณะนี้  โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานไม่ได้ออกมาช่วยเหลือในมิติด้านมนุษยธรรมเท่าที่ควรจะเป็น
          
9. ให้รัฐบาลไทยเน้นการบริหารจัดการในมิติการคุ้มครองมากกว่าควบคุม ส่วนกรณีการป้องกันการลักลอบแรงงานหลบหนีเข้าเมืองมาใหม่ ให้มีการดำเนินการแบบเข้มข้น ขจัดกระบวนการลักลอบขนคน กระบวนการนายหน้า ทั้งที่เป็นคนข้ามชาติและคนไทย
           
10. ส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ  การฟื้นฟู ร่วมสร้างและพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน ให้มองว่าเขาคือทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพ พัฒนาได้ ไม่ควรมองว่าเป็นแรงงานไร้ฝีมืออย่างเดียว
           
11. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับรองโดยทันที สำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติที่กำลังศึกษาในระบบการศึกษาไทย และการศึกษานอกโรงเรียน ให้ทำทะเบียนกลาง หลังจากจบการศึกษาให้ส่งข้อมูลต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาการทำงานในราชอาณาจักรไทยต่อไป 
                      
นายสมพงค์   สรุปในตอนท้ายของรายงานว่า  หากแต่จะดำเนินการตามเดิม คาดว่าน่าจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนัก  สำหรับข้อเสนอทั้งหมดที่เสนอมาให้ชวนคิด โดยเป้าหมายแรก คือ การลดการแพร่เชื้อออกไปในวงกว้างสู่พี่น้องแรงงานด้วยกันเอง และคนไทยที่พำนักอาศัยในบริเวณชุมชนเดียวกัน 

เป้าหมายที่สอง คือ การให้แรงงานมีที่พำนักอาศัยเป็นการชั่วคราว การมีงานทำ การผลักดันเศรษฐกิจไทย  หากแต่จะดำเนินการตามเดิม คาดว่าน่าจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนัก  และ

เป้าหมายสุดท้าย  จริงๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอให้ดำเนินการอย่างเป็นจริง ใช้หลักมนุษยธรรมนำ สนับสนุนขาที่สามของอาเซียนคือ มิติสังคมวัฒนธรรม ให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ การอยู่ร่วมกันในสังคมคงของเราในภูมิภาคนี้คงจะมีความสุขมิใช่น้อย  

"รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว แต่ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ขั้นตอน วิธีการใหม่น่าจะดีไม่น้อย  วาดหวังอยากเห็นการบริหารจัดการแรงงานให้ดี มีประสิทธิภาพ ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด"รายงานของนายสมพงค์ระบุ