ชู AR เตรียมพร้อมเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

10 ส.ค. 2563 | 06:18 น.

ศธ. นำร่องใช้เทคโนโลยี AR  พัฒนาสื่อแนวใหม่ 3D Animation  เตรียมพร้อมเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

เทคโนโลยี AR” กลายเป็นเทรนด์การศึกษาของโลก ที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในทุกช่วงวัยมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ต่างก็ใช้ AR ในการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์  เพื่อให้เห็นตำแหน่งและรายละเอียดของโครงสร้างร่างกาย   รวมถึงในสหรัฐอเมริกา ที่นำเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายหลักฟิสิกส์ยากๆ ให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายขึ้น ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการจึงส่งเสริมให้มีการนำ AR มาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของไทยอย่างเป็นรูปธรรม

 

คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  วันนี้มีการนำ เทคโนโลยี AR มาใช้ในรูปแบบของการหยิบของเก่ามาเล่าใหม่ ในรูปแบบเทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง (AR) ผ่าน 3D Animation ที่ตื่นเต้น ท้าทาย ด้วยการพาเด็กๆ นั่งไทม์แมชชีน ย้อนกลับไปในอดีต  ซึ่งเป็นที่มาของโครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) ภายใต้แนวคิด “ภูมิใจภักดิ์ รักษ์ความเป็นไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากธนบัตรอันทรงคุณค่า

คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช

โดยนำ “ธนบัตรไทย” มาเป็นสื่อการเรียนประวัติศาสตร์ ด้วยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น แล้วสแกนบนธนบัตร ก็จะเกิดเป็นภาพ 3D Animation บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้แก่ ธนบัตร 20 บาท จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ 1 และเรื่อง “อิเหนา” ตอนบุษบาเดินทางไปรดน้ำมนต์กับฤาษี  ซึ่งเชื่อว่าจะถูกใจเด็กยุคนี้ เพราะเข้าใจง่าย และทำให้เกิดความรู้อย่างยั่งยืนมากกว่าการท่องจำแบบสมัยก่อน  ซึ่งโครงการนี้ถูกพัฒนาโดยทีมงานจากมหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งทำได้เป็นอย่างดี

 

“หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า วันนี้มีการพัฒนาสื่อวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งเป็นบทเรียนของปัจจุบัน หากเข้าใจรากฐาน วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอดีต จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหากับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้  ขณะที่การเล่าเรียนแบบท่องจำ จะทำให้เข้าไม่ถึงแก่นแท้ประวัติศาสตร์ และเด็กในยุค 2020 ไม่สนใจ”

ชู AR เตรียมพร้อมเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

คุณหญิงกัลยา  กล่าวอีกว่า เพื่อให้คนไทยสร้างนวัตกรรม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งใจพัฒนา “นโยบายสอนเด็กเรียนโค้ดดิ้ง” ให้สำเร็จ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ซึ่งในยุคนี้ภาษามนุษย์ เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ  ต้องรู้จักสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้ด้วย เพราะอนาคตทุกอย่างจะกลายเป็น “ดิจิทัล”  เด็กจึงต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะ เพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21