บริติช เคานซิล ดึงองค์ความรู้อังกฤษ ดันธุรกิจอาหารไทย

13 พ.ย. 2562 | 05:32 น.

บริติช เคานซิล ร่วมดันธุรกิจอาหารไทยสู่เวทีโลก ชูโมเดลความร่วมมือ "มหาวิทยาลัย – ภาคธุรกิจ” ในอังกฤษ พร้อมจับมือ เมืองนวัตกรรมอาหาร “ แมชชิ่งความร่วมมือ ประยุกต์ใช้นวัตกรรม

นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ประเทศไทย เดินหน้าโครงการ University – Industry Links เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจ โดยร่วมมือกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ดึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ (University of Cranfield) แชร์องค์ความรู้ด้านการมองอนาคต (Foresight) สู่การพัฒนากลยุทธ์โรดแมปอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย 4 ข้อ “สร้างแพลตฟอร์ม ลงทุนกับงานวิจัย สร้างระบบนิเวศ โปรโมทเอกลักษณ์” พร้อมโชว์งานวิจัยด้านการประเมินคุณภาพทางการสัมผัสและการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค (Sensory and Consumer Behaviour) จากความร่วมมือมหาวิทยาลัย-ภาคธุรกิจในอังกฤษ ได้แก่ “ห้องทดสอบรูป รส กลิ่น” และแว่นตาตรวจจับโฟกัสสายตา จ่อสานความร่วมมือมหาวิทยาลัย-ภาคธุรกิจในไทย “ไทยยูเนี่ยน-ม.เชียงใหม่ แชร์ความรู้การประเมินประสาทสัมผัส” “เอ็มเค เปิดพื้นที่ห้องแล็บประสาทสัมผัสตามโมเดลของอังกฤษ และเปิดให้มหาวิทยาลัยเข้าใช้”

บริติช เคานซิล ดึงองค์ความรู้อังกฤษ ดันธุรกิจอาหารไทย

ความร่วมระหว่างภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์เปอร์ อดัมส์ (Harper Adams University) กับบริษัทซาปูโต แดรี่ ยูเค (Saputo Dairy UK) บริษัทผลิตภัณฑ์นมชั้นนำของอังกฤษ ที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมอาหารขึ้นในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าโดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน ในขณะเดียวกันนักศึกษาก็จะได้เรียนรู้ทักษะที่ประยุกต์ใช้จริงในธุรกิจ

ปีที่ผ่านมา บริติช เคานซิล ได้ทำงานร่วมกันเมืองนวัตกรรมอาหารอย่างใกล้ชิด มีการแชร์องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษ แนะนำรูปแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้และพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในระดับการวางโรดแมปอุตสาหกรรมอาหารในระยะยาว ผ่านโครงการมองอนาคตอุตสาหกรรมอาหาร (Foresight for Food) ด้วยการแชร์องค์ความรู้ การมองอนาคตจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ เพื่อเป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์ให้กับบุคลากรที่ทำงานด้านนโยบายของอุตสาหกรรมอาหาร และในระดับการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในอุตสาหกรรม ผ่านโครงการประเมินคุณภาพทางสัมผัสและพฤติกรรมผู้บริโภค (Sensory and Consumer Behaviours) ด้วยการแนะนำองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ประสาทสัมผัสเพื่อการพัฒนาอาหาร

บริติช เคานซิล ดึงองค์ความรู้อังกฤษ ดันธุรกิจอาหารไทย

นวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้ทำงานวิจัยต่อยอด เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพอาหารด้วยหลักการตลาดโดยใช้ประสาทวิทยา (neuroscience marketing) อาทิ ห้องทดสอบรูป รส กลิ่นของอาหาร (Sensory Testing Room) และแว่นตาตรวจจับโฟกัสสายตา (Eye Tracking Glasses)

 

ด้าน ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้อำนวยการโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า หลังจากได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบริติช เคานซิล และได้ร่วมทำเวิร์คช็อปการมองอนาคต (Foresight) กับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ เมืองนวัตกรรมได้นำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็น 4 กลยุทธ์ของโรดแมปพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร

  บริติช เคานซิล ดึงองค์ความรู้อังกฤษ ดันธุรกิจอาหารไทย

ได้แก่ 1) สร้างแพลตฟอร์มระดับชาติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและยั่งยืน 2) ลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงนวัตกรรมอาหารที่ทันสมัยและยั่งยืน 3) สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ และ 4) ส่งเสริมภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทยในระดับนานาชาติ 

นอกจากการวางโรดแมปอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยแล้ว องค์ความรู้ด้านการมองอนาคต (Foresight) จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในกรอบความตกลง ว่าด้วยบริการของอาเซียน หรือ ASEAN Framework อีกด้วย

บริติช เคานซิล ดึงองค์ความรู้อังกฤษ ดันธุรกิจอาหารไทย

หลังจากที่ได้ศึกษารูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจในสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับประเด็นการประเมินคุณภาพทางสัมผัสและพฤติกรรมผู้บริโภค เมืองนวัตกรรมอาหาร ยังได้ร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในประเทศไทย เช่น ความร่วมมือกันของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการแชร์องค์ความรู้ด้านการประเมินประสาทสัมผัสขั้นสูง (advance sensory evaluation) และการสนับสนุนของเอ็มเค เรสโตรองค์ กรุ๊ป ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านประสาทสัมผัส (sensory lab) ตามโมเดลของอังกฤษ และแบ่งปันพื้นที่นี้แก่มหาวิทยาลัยไทยเพื่อใช้ศึกษาเรียนรู้ และพัฒนางานวิจัย 

รวมไปถึงยังมีอีกหลากหลายมหาวิทยาลัย ที่มีแผนในการประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านประสาทวิทยา เป็นหลักในการพัฒนาอาหารจากพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยไปอีกขั้นหนึ่ง