มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังเครือข่าย คืนความสุขชาวอีสาน

11 ต.ค. 2562 | 10:04 น.

จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล" ที่เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ และอิทธิพลพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี จึงร่วมกับ เอสซีจี ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนกับพี่น้องผู้ประสบภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น ยโสธร ร้อยเอ็ด พิษณุโลก และแม่ฮ่องสอน

มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังเครือข่าย คืนความสุขชาวอีสาน

นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า การช่วยเหลือแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟู และระยะพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในระยะเร่งด่วนนั้น มูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายมอบสิ่งของที่จำเป็นให้แก่พี่น้องผู้ประสบภัย ประกอบด้วยถุงยังชีพ จำนวน 1,150 ถุง สุขากระดาษ จำนวน 5,500 ชุด มุ้ง 226 หลัง และยากันยุง  200 ขวด

มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังเครือข่าย คืนความสุขชาวอีสาน

พันธมิตรเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือ มีหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เครือข่ายอาสาดุสิต ตลอดจนพนักงานจิตอาสาเอสซีจี ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจเคมิคอลส์

นอกจากนี้ ยังได้ให้การช่วยเหลือระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด ในพื้นที่อุบลราชธานีและร้อยเอ็ด เพื่อส่งคืนพื้นที่ให้พร้อมกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพนักงานจิตอาสาจากปูนซิเมนต์ไทยแก่งคอย ที่ลงพื้นที่ทำความสะอาดและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกินเพล อ.วารินชำราบ รวมถึงทำความสะอาดและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าให้แก่โรงเรียนทั้งในตัว อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
      มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังเครือข่าย คืนความสุขชาวอีสาน       

นอกจากนี้ ที่โรงเรียนวัดหนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มูลนิธิเอสซีจี ยีงได้ร่วมกับเพื่อนพนักงานเอสซีจีภาคอีสาน ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมทำความสะอาดโรงเรียน ทาสี และปรับปรุงสนามเด็กเล่นเพื่อน้องๆ รวมทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะศิลปประยุกต์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตลอดจนร้านผู้แทนจำหน่ายเอสซีจี จ.อุบลราชธานี ยังร่วมสนับสนุนการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารเรียนอีกด้วย
            
มูลนิธิเอสซีจี ยังได้รับความร่วมมือจาก สฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.อุบลราชธานี รวมถึงพนักงานเอสซีจีจิตอาสา จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยทีม S.E.R.T. (SCG Emergency Response Team) เข้าทำความสะอาดบ้าน วัด โรงเรียน ในพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว
            
สำหรับระยะยั่งยืนนั้น มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่าการเยียวยาพื้นที่และความรู้สึกของผู้ประสบภัยในพื้นที่ไม่อาจทำได้เพียงชั่วข้ามคืน มูลนิธิฯ จึงร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม แสวงหาแนวทางการช่วยเหลืออย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
             มูลนิธิเอสซีจี ผนึกกำลังเครือข่าย คืนความสุขชาวอีสาน
มูลนิธิฯ จะยึดหลักการช่วยเหลือบนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริงของชุมชนเป็นหลัก เช่นการฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร ได้แก่ การตั้งกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ เรือกสวนไร่นาเสียหาย หรือเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรชำรุดเสียหาย เพราะมูลนิธิฯ เชื่อว่าการช่วยเหลือที่ยั่งยืนคือการช่วยให้พี่น้องที่ประสบภัยสามารถกลับมาทำมาหากินประกอบอาชีพได้ดังเดิม