Trash Lucky สตาร์ตอัพรักษ์โลก กลยุทธ์ลดขยะ ถูกจริตคนไทย

20 ก.ค. 2562 | 04:10 น.

การลดปริมาณขยะที่กลายเป็นวาระแห่งชาติ และวาระแห่งโลก กำลังขยายผลจากความร่วมมือและแนวคิดแบบร่วมด้วยช่วยกัน ของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญ ที่จะช่วยเปลี่ยนโลกของเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจของ สตาร์ตอัพน้องใหม่ Trash Lucky กับผู้ก่อตั้ง ที่ชื่อ“ณัฐภัค อติชาตการ” ที่ดึงเอาสิ่งที่ถูกจริตคนไทย อย่างเรื่องของการชิงโชค มาขับเคลื่อนแรงบันดาลใจในการกำจัดขยะให้ถูกวิธีของคนทั่วไป 

จากความชื่นชอบการท่องเที่ยวทางทะเล ชอบเล่นเซิร์ฟและดำนํ้า แต่สิ่งที่ได้สัมผัสเป็นผลพลอยได้ที่ไม่พึงปรารถนา กับขยะสารพัดสิ่งที่พบทุกครั้งจากท้องทะเลในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขยะเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากคนย่านนี้เพียงที่เดียว แต่ยังมีซากขยะที่พัดพามาจากที่อื่น ปัญหาที่ได้พบเจอทำให้เกิดความคิดที่จะกำจัดขยะให้เป็นเรื่องเป็นราว “ณัฐ” ได้ผสมผสานสิ่งที่ได้เรียนรู้จากตำรา ประสบการณ์ที่ได้รับจากการร่วมงานกับสตาร์ตอัพ ทั้งร็อคเก็ต อินเตอร์เน็ต กับการบริหาร อีซี่ แท็กซี่ ในตำแหน่งคันทรีเมเนเจอร์ที่ไทย และการสร้างแอพพลิเคชันด้านโลจิสติกส์ ชื่อ Deliveree ให้กับอินสไปร์ เวนเจอร์ จนสามารถเรสต์ฟันด์ในระดับซีรีส์เอได้สำเร็จมาแล้ว คราวนี้ก็ถึงทีของการสร้างธุรกิจจากอินสไปร์ของตัวเอง ให้เป็นเรื่องเป็นราว 

Trash Lucky สตาร์ตอัพรักษ์โลก กลยุทธ์ลดขยะ ถูกจริตคนไทย

“ณัฐ” นำความชอบของคนไทย และคนอีกหลายๆ ชาติ ที่ชอบการเสี่ยงดวงชิงโชค มาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการจูงใจให้คนหันมาบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี แล้วส่งขยะที่รีไซเคิลได้ ซึ่งช่วงแรกจำกัดอยู่ 2 ประเภท คือ ขวดพลาสติกใส (PET) และกระป๋องอะลูมิเนียม เข้ามาที่ Trash Lucky นํ้าหนัก 1 กก.จะได้เงิน 20 บาท พร้อมได้รับตั๋วจับฉลากชิงรางวัล 2 ใบ โดยรางวัลใหญ่ขณะนี้คือ ทองคำมูลค่า 5,000 บาท ซึ่งภายใน 1 ปี จะเพิ่มมูลค่ารางวัลใหญ่สุดให้ได้ถึง 1 ล้านบาท ส่วนขยะที่ได้รับมา จะนำไปส่งต่อให้กับบริษัทรีไซเคิล แปรรูปเป็นโปรดักต์ใหม่ ซึ่งจุดนี้คือ รายได้ที่จะกลับเข้า Trash Lucky ที่จะนำมาขยายผลต่อไป ทั้งการเพิ่มบริการ และเพิ่มมูลค่ารางวัล โดยรอบแรกมีคนส่งขยะเข้ามาประมาณ 130 กิโลกรัม และมีเป้าหมายภายในกันยายนนี้ จะต้องเพิ่มปริมาณขยะให้ได้ 1 ตัน 

ขณะนี้ ยังเป็นช่วงของการเริ่มต้น เป็นการทำมินิไพล็อตรอบแรก จากเป้าหมายที่จะทำประมาณ 3-4 ครั้ง เพื่อหาผลลัพธ์แล้วนำมาแก้ไขตอบโจทย์ในขั้นตอนการทำงาน และยังจะโฟกัสให้ชัดเจนมากขึ้นว่า จะไปร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ใครบ้าง และร่วมมือในรูปแบบไหน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจูงใจให้ผู้คนบริหารจัดการ คัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อนำขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิล รวมไปถึง การนำไป Reduce และ Reuse ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ “ณัฐ” อยากเห็นมากกว่า การแค่รีไซเคิลเพียงอย่างเดียว 

“มิสชันของเรา คือ ทะเลที่ปลอดขยะพลาสติก เพราะปัจจุบันขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อปีถึง 2 ล้านตัน โดยขยะที่เราเห็นติดอยู่ชายฝั่งเป็นเพียง 30% ของขยะทั้งหมดในทะเล ส่วนอีก 70% คือขยะที่จมอยู่ใต้ผืนนํ้า ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ
สิ่งมีชีวิตในท้องทะเล”

Trash Lucky มีเป้าหมายต่อไป คือ ภายใน 2-3 ปี จะต้องเพิ่มปริมาณสมาชิกให้ได้ 2 แสนราย ซึ่งแบ่งเป็นทั้งบุคคลทั่วไปและองค์กรต่างๆ รวมไปถึงการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขยายผลสร้างให้เกิดอิมแพ็กของการทำงานให้มากขึ้น และเมื่อทุกอย่างเดินไปตามเป้า Trash Lucky จะระดมทุนอีกครั้ง หลังจากนั้นจะนำทั้งเงินทุนที่ได้ และรายได้ที่เข้ามา ไปขยายขอบข่ายการทำงานไปสู่ระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะภูมิภาคนี้คือผู้นำในการสร้างขยะให้กับท้องทะเลเลยทีเดียว 

“ณัฐ” ฝากบอกว่า หากใครหรือหน่วยงานไหน ที่พร้อมจะจัดส่งขยะรีไซเคิลเข้ามา ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เลย เพียงแค่เข้าไปสอบถามที่ Line : @trashlucky หรือเข้าไปดูที่ Facebook : Trash Lucky เขาบอกว่ากำลังในการไปรับขยะของ Trash Lucky ยังมีไม่เพียงพอ แต่หากใครพร้อมจัดส่ง เขาก็พร้อมรับมาบริหารจัดการอย่างถูกวิธีให้ เรื่องแบบนี้ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี พลาสติกจะได้กลับมาเป็นคนดีมีประโยชน์ แทนที่จะเป็นผู้ร้ายของมนุษย์โลกอย่างเช่นทุกวันนี้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,488 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

Trash Lucky สตาร์ตอัพรักษ์โลก กลยุทธ์ลดขยะ ถูกจริตคนไทย