สงครามเทคโนโลยี ... และการล่าอาณานิคมยุคใหม่

20 ม.ค. 2562 | 07:27 น.
| เขียน : ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ [email protected]

……………….


ประเด็นร้อนที่ทุกคนให้ความสนใจเพราะส่งผลกระทบไปทั่วโลกในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันไปมาด้วยมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การตั้งกำแพงภาษีกับจีนนั้นเป็นประเด็นเชิงกลยุทธ์ระยะยาวของสหรัฐฯ เนื่องจากจีนใช้การบีบบังคับให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศต้องเข้าร่วมทุนกับบริษัทจีน และต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทร่วมทุน เพื่อให้จีนบรรลุยุทธศาสตร์ชาติ ที่เรียกว่า "Made in China 2025"

ซึ่งหลักการสำคัญ คือ รัฐบาลสนับสนุนมาตรการทางภาษีให้เอกชนซื้อเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ทั่วโลก และนำมาพัฒนาต่อยอด ก่อนส่งออกไปขายให้ประเทศต่าง ๆ ในราคาที่ถูกกว่า ข้อเท็จจริงที่ประเมินโดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า การตั้งกำแพงภาษีไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2561 สหรัฐฯ ขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น 10.4% และมีแนวโน้มว่า ปี 2561 จะเป็นปีที่สหรัฐฯ ขาดดุลกับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดังนั้น หากพัฒนาการยังเป็นเช่นนี้ จึงเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจยังไม่เพิ่มระดับการขึ้นภาษีในปี 2562 แต่จะหันมากำกับเป็นรายอุตสาหกรรม หรือ รายบริษัทแทน ทำให้ผลกระทบต่อสงครามการค้า (Trade War) ต่อเศรษฐกิจโลกในฐานะห่วงโซ่การผลิต (Global Supply Chain) ไม่น่าจะรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ประเด็นด้านสงครามการค้าอาจลดความตึงเครียดลง แต่การกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ของสหรัฐฯ กับประเทศจีน ที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อไม่ให้ต้องพึงพาเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก และทำให้ดียิ่งกว่าในราคาที่ถูกกว่า กำลังนำไปสู่สงครามทางเทคโนโลยี หรือ Tech War อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศจีนเคยเป็นผู้นำในการสร้าง 4 สิ่งสุดยอดเทคโนโลยีในโลกยุคโบราณ คือ เข็มทิศ ดินปืน กระดาษ และการพิมพ์ ก่อนที่จะถดถอยและปิดประตูไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอกอย่างยาวนาน ปัจจุบัน จีนได้หวนกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่อีกครั้ง หลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสงสัยเกี่ยวกับศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของจีนเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ รู้สึกกลัวว่า จะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของตน ได้กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาแล้ว จากการจัดอันดับบริษัทให้บริการอินเตอร์เน็ตของโลกในปี 2561 โดยใช้มูลค่าตามราคาตลาด (Market Capability) เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ มีบริษัทของจีนติดอันดับมากถึง 7 ราย จาก 15 อันดับแรก นำโดย Tencent, Alibaba และ Baidu ซึ่งสินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้ ล้วนโดดเด่น ทันสมัยและมีความหลากหลาย ทั้งยังมีการพัฒนาเพื่อรองรับเทรนด์ต่าง ๆ ของผู้บริโภคในอนาคตด้วย

การก้าวกระโดดในการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ส่วนหนึ่งมีแรงผลักดันจากการปลูกฝังแนวคิดการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี (Techno-Nationalism) ซึ่งสะท้อนความเจ็บปวดจากการถูกครอบงำโดยประเทศตะวันตกในสมัยยุคการล่าอาณานิคม (Colonialism) นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวของลัทธิล่าอาณานิคม คือ 3G "พระเจ้า (God) ทองคำ (Gold) และความรุ่งโรจน์ (Glory)" พระเจ้า คือ การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังดินแดนห่างไกล, ทองคำ คือ ทรัพยากรและวัตถุดิบ รวมทั้งแรงงาน ที่จะนำกลับมาสร้างความมั่งคั่ง ส่วนความรุ่งโรจน์ คือ ความภาคภูมิใจของราชวงศ์ในยุโรปที่สามารถขยายดินแดนในโลกใหม่ ความทะเยอทะยานของเหล่าประเทศล่าอาณานิคม ทำให้จีน ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล และจำนวนประชากรมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก ตกเป็นเป้าของการไล่ล่าเพื่อเข้ายึดครอง ตักตวงทรัพยากรและผลประโยชน์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

หลัง "ยุคล่าอาณานิคม" เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล โทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง กลายเป็นระบบนิเวศใหม่ที่เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แรงกระตุ้นในการขยายธุรกิจเพื่อยึดครองตลาดในประเทศต่าง ๆ ไม่ได้อยู่บนความเชื่อ 3G "God, Gold, Glory" อีกต่อไป แต่มาจากแรงจูงใจในการสร้างผลกำไรในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง ควบคู่กับความต้องการผูกขาดความเป็นเจ้าขององค์ความรู้ในเทคโนโลยีนั้น ๆ แรงจูงใจดังกล่าวกำลังนำโลกกลับไปสู่ยุคล่าอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism) ซึ่งคราวนี้อำนาจไม่ได้มาจากนโยบายเรือปืน แต่มาจากการควบคุมการพัฒนาและจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้ว เพื่อตักตวงผลกำไรจากประเทศกำลังพัฒนา การล่าอาณานิคมยุคใหม่ (Neo-Colonialism) โดยอาศัยเทคโนโลยี กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสุขสบายในการใช้ชีวิตของทุกคน


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

นอกจากการพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง ข้อมูลที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น Google, Facebook, Amazon ได้ไปจากผู้บริโภค ช่วยให้การกำหนด หรือ ควบคุมพฤติกรรมการบริโภคสินค้า หรือ บริการของประชาชนในประเทศที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทดังกล่าวเป็นไปได้ง่ายขึ้น บริษัทเหล่านี้กลายเป็นผู้ผูกขาดรายได้โฆษณาออนไลน์ ข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากได้สร้างความได้เปรียบให้กับเจ้าของเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจพูดได้ว่า เสมือนหนึ่งทุกวันนี้การปกครองอาณานิคมได้เปลี่ยนจากรัฐชาติ มาเป็นบริษัทขนาดใหญ่แทน เป็นการได้อาณานิคมใหม่โดยมีประชากรจำนวนมากในรัฐอาณานิคมช่วยสร้างรายได้ให้ โดยไม่ต้องใช้กำลังบีบบังคับเช่นในอดีต

ประเทศที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของตนเองได้เช่นจีน อาจจะสามารถสลัดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นภายใต้ระบบอาณานิคมยุคใหม่ (Neo-Colonialism) ได้ แต่ก็ต้องแลกด้วยการทำสงครามที่ไม่ต้องใช้กระสุนปืน เป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) กับจักรวรรดิที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีอยู่เดิม คือ สหรัฐอเมริกา

หน้า 22-23 ฉบับที่ 3,436 วันที่ 17 - 19 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว