พบคนไทยเมินบ้านผู้สูงวัย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้วอนรัฐออกก.ม.คุมแบบให้โดนใจ

22 ก.พ. 2560 | 11:00 น.
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยสำรวจพบคนไทยละเลยเรื่องการเลือกที่อยู่อาศัย หวั่นสร้างปัญหาในอนาคต วอนรัฐให้ความสำคัญ ออกกฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารและที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์ซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2573) ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน จาก 11 ล้านคนในปี 2559 และถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของประชากรผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี มากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

สาเหตุหลักที่ทำให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุคือ อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างน่าตกใจ จาก 6.1% ในปี 2508 เหลือเพียง 1.5% ในปี 2558 เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีการศึกษาและมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น รวมถึงผลสำเร็จของโครงการวางแผนครอบครัวที่รัฐบาลริเริ่มในปี 2513

แต่เมื่อสำรวจผู้ที่อยู่ระหว่างหาซื้อและผู้ซื้อที่อยู่อาศัยรวม 661 คน (แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 21-39 ปี สัดส่วน 43%, กลุ่มอายุ 40-59 ปี สัดส่วน 40%, และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 43%) พบว่า มีเพียง 37% เท่านั้นที่กำลังเริ่มมองหาหรือเคยมองหาสถานที่พักอาศัยที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยหลังเกษียณ โดยมีลักษณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุ และมีสถานที่ดูแลผู้สูงวัยใกล้เคียงกับบริเวณที่พักอาศัย ในทางกลับกันผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ

เช่นเดียวกับประชากรในประเทศสิงคโปร์ที่ไม่เป็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในอนาคตได้ ทางรัฐบาลประเทศสิงคโปร์เองจึงมีแนวคิดให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยในที่เดิม โดยได้มีการจัดสรรที่ดินและพัฒนารูปแบบบ้านให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย ปัจจุบันองค์การอาคารและสิ่งก่อสร้าง แห่งประเทศสิงคโปร์ได้มีการปรับเปลี่ยน ประมวลการเข้าถึงอาคารโดยปราศจาก อุปสรรค (Code on Barrier-Free Accessibility in Buildings) ซึ่งออกเมื่อปี 2533 ให้เป็น "Code on Accessibility in the Built Environment 2013" ซึ่งเป็นข้อบังคับสำหรับการสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้าง เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับสังคมผู้สูงวัย ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงอาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆได้อย่างปลอดภัย

"การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เช่น จำนวนแรงงานลดลง สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเน้นความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ได้เริ่มมีการออกแบบบ้านเพื่อรองรับความต้องการของสังคมผู้สูงวัย แต่มีเพียงผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่เข้าใจว่าการออกแบบและการเลือกที่อยู่อาศัยมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงอยากจะช่วยให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาและเข้าใจถึงความสำคัญของการมีกฎหมายที่เหมาะสมต่อการออกแบบอาคารและที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงวัยสามารถอาศัยอยู่ในที่เดิมได้ โดยให้มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาน้อยที่สุด" นางกมลภัทร กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560