นายเสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง (Contractor) ในปี 67 มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังจากที่สาหัสมาพอสมควรตั้งแต่ก่อนช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เนื่องจากการแข่นขันราคารับงานที่ค่อนข้างดุเดือด
อีกทั้งพอถึงช่วงที่เกิดโรคระบาดทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องล็อกดาวน์ ส่งผลให้การดำเนินงานก่อสร้างและการส่งมอบงานไม่เป็นไปตามที่กำหนด ดังนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มหุ้นรับเหมาก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานจึงออกมาไม่ค่อยดีนัก
แต่เชื่อว่าในปี 68 จะเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลักๆ เป็นผลมาจากการเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ๆ จากภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยออกมามากขึ้น โดยสัญญาณการลงทุนของภาครัฐฯ เริ่มกลับมาดีตั้งแต่เดือนก.ย.67 เป็นต้นมา ทำให้เชื่อว่าผลการดำเนินงานจากนี้จะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว
โดยมองว่ากลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่มีความน่าสนใจที่สุดในปี 68 คือ กลุ่มรับเหมาที่เกี่ยวเนื่องกับการคมนาคม แต่อย่างไรก็ดีมองว่าการลงทุนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างนั้นยังพอไปได้ เพียงแต่อาจต้องเลือกเล่นเป็นรายตัวและต้องมีสตอรี่ และเหมาะกับการเทรดดิ้งเป็นรอบเท่านั้น
ในขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector) ในปี 67 มองว่ายังคงเป็นปีที่ผู้ประกอบการยังคงเหนื่อยอยู่พอสมควร ด้วยสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่อาจไม่เอื้อต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงด้วยสภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังกระทบให้อัตราการปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านหดตัวลงอย่างชัดเจน
โดยสังเกตได้จากยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน (Rejection Rate) ภาพรวมของทั้งตลาดอสังหาฯ ที่พุ่งขึ้นมาแตะบนระดับ 50-60% และมีการขยายตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าความต้องการซื้อบ้านยังคงมีอยู่อีกมากแต่ด้วยกำแพงจาก Rejection Rate ของสถาบันการเงิน ทำให้บ้านยังถูกดองไว้ในมือผู้ประกอบการต่อไป
"จากนี้ไปคงต้องจับตาดูท่าทีของรัฐบาลว่าจะมีการออกมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อเป็นการประตุ้นภาคอสังหาฯ ให้ฟื้นตัวกลับมาได้ รวมถึงความหวังใหญ่ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ดีขึ้น เพราะจะทำให้การคุมเข้มยอมปล่อยสินเชื่อใหม่ของสภาบันการเงินผ่อนคลายลงตามไปด้วย"
ส่วนในปี 68 ก็คาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯ ยังคงต้องเหนื่อยหนักอยู่ การเปิดตัวโครงสร้างใหม่ลดลง และจะมุ่งเน้นการระบายสินค้าสต็อกในมือเป็นหลัก โดยในการลงทุนนั้นแนะนำว่าอาจต้องหลีกเลี่ยงหุ้นอสังหาฯ ที่มุ่งเน้นกลุ่มบ้านระดับต่ำกว่า 3-5 ล้านบาท เป็นต้นไป และอสังหาฯ ขนาดกลาง-รายเล็กลง
บล.พาย ให้มุมมองต่อหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างว่า ภาพรวมกลุ่มรับเหมาฯ ในช่วงปลายปี 67 ถึงต้นปี 68 มองว่ามีปัจจัยบวกรออยู่มาก โดยเฉพาะการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นการประกาศออกมามากขึ้นหลังมีการใช้งบประมาณปี 68 แล้ว อีกทั้งมาตรการก่อสร้างระบบสาธารูปโภคขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็กี หากไม่มีโครงการขนาดใหญ่ออกมาเพิ่ม ผู้ประกอบการหลักในประเทศต่างมี Backlog อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งในปี 68 เป็นต้นไปจะเริ่มเป็นช่วงรับรู้งานก่อสร้างมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง (เด่นชัย-เชียงของ และ บ้านไผ่-นครพนม) เป็นต้น
แม้จะมีปัจจัยบวกรออยู่มาก แต่ด้วยกลุ่มรับเหมาก่อสร้างมีความผันผวนของผลประกอบการค่อนข้างมาก ทางฝ่ายจึงให้น้ำหนักการลงทุนไว้เพียง “เท่าตลาด” เท่านั้น โดยเลือก CK เป็น Top Picks ของกลุ่มเพราะมี Backlog อยู่ในระดับสูงจึงไม่ได้รับผลกระทบหากงานใหม่ออกมาช้ากว่าที่เคยคาดไว้
ในช่วง 9 เดือนแรกปี 67 ภาครัฐมีการเปิดประมูลงานขนาดใหญ่ไม่มากนัก โดยมีโครงการสำคัญได้แก่ งานทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา มูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาท (ITD ชนะการประมูล) งานรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 28,600 ล้านบาท (กลุ่ม CHO และเอเอสก่อสร้าง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด)
ขณะที่งานขนาดใหญ่อื่นที่เคยคาดว่าจะเปิดประมูลอย่างสายสีแดง ส่วนต่อขยายงานสนามบินดอนเมืองเฟส 3 งานมอเตอร์เวย์ รวมถึงงานขยายสนามบินสุวรรณภูมิในฝังตะวันออกและตะวันตก ต่างยังไม่ถูกประมูลในปี 67 นี้ อย่างไรก็ดี มองว่าโครงการดังกล่าวจะเห็นกลับมาเห็นการเปิดประมูลอีกครั้งในปี 68 เพราะเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมา
นอกจากนี้ ในปี 68 ยังเป็นปีที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะรับรู้รายได้จากงานขนาดใหญ่เข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก หรืองานรถไฟทางคู่ที่เซ็นสัญญาเข้ามาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะกระทบกับต้นทุนก่อสร้างได้
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แม้จะมีปัจจัยบวกค่อนข้างมากตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่ด้วยความผันผวนของราคาหุ้น รวมถึงผลประกอบการที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเข้ามาและกดดันให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ประเมินภาคอสังหาริมทรัพย์ ว่า ยอดขาย (Presales) มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในไตรมาส 4/67 ในขณะที่กำไรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดตัวโครงการใหม่ และยอดขายรอโอน (backlogs) คอนโดฯ อยางไรก็ตาม อัตรากำไรยังคงถูกกดดันจากการแข่งขันด้านราคา ในปี 68 ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะมุ่งเน้นไปที่การลดการเปิดตัวใหม่และสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ กำลังซื้อที่อ่อนแอและหนี้ครัวเรือนที่สูงอาจจำกัดการฟื้นตัวของตลาด ดังนั้น ทางฝ่ายจึงคงคำแนะนำ MARKETWEIGHT
ด้าน บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์กลุ่ม Property Sector ว่า คาดผลประกอบการปี 67 ของกลุ่มฯ -15% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และแนวโน้มการเติบโตปี 68 ยังมีความท้าทายรออยู่ จากปัจจัยมหภาคทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคชะลอตัว, หนี้เสียที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นและความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่ออยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ คาดรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นช่วยพยุงกลุ่มฯ เช่น ทบทวนเกณฑ์ต่างชาติ, สิทธิลดหย่อนภาษี, ต่ออายุและเปิดเพดานส่วนการลดโอน/จดจำนอง ในขณะเดียวกันกำลังซื้อชาวต่างชาติจะมีบทบาทสำคัญช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง
มองไปข้างหน้า ราคาหุ้นกลุ่มฯ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลง 10% และนับตั้งแต่ต้นปี 67 ถึงปัจจุบัน ลดลง 24% ฝ่ายวิจัยจึงมองว่าสะท้อนปัจจัยลบ และแนวโน้มผลประกอบการที่อ่อนแอไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มฯ ซื้อขายบน PER ต่ำกว่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และบางตัวมี Div. Yield สูง 7-8% ต่อปี จึงมองว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่เน้นถือรับเงินปันผล คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) และแนะนำเลือกเล่นรายตัว (Selective Buy)
โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อ SIRI (ราคาเป้าหมายที่ 2.14 บาท) และ ASW (ราคาเป้าหมายที่ 10.30 บาท) กลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจนรับผลกระทบจำกัด และคาดกำไรปี 67-68 ทำระดับสูงสุดใหม่ อีกทั้งมีโครงการเปิดใหม่ใน จ.ภูเก็ต รองรับอุปสงค์ต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และ SPALI (ราคาเป้าหมายที่ 22.80 บาท) ความสามารถในการระบายสินค้าคงคลัง โครงการแนวสูงสร้างเสร็จพร้อมขายและโอนในไตรมาส และความสามารถในการรักษาระดับอัตรากำไรแม้การแข่งขันสูงในตลาด