พลังชาวเพชรบุรีช่วยปราบ“ปลาหมอคางดำ”พลิกสู่โอกาสสร้างรายได้

09 มิ.ย. 2568 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 09:43 น.

เกษตรกรชาวเพชรบุรีชี้ “ปลาหมอคางดำ” คือโอกาส เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ควบคู่ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำ

ปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีนั้น ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เกษตรกรชาวเพชรบุรีได้พลิกปัญหาให้เป็นโอกาส ทำให้ปลาหมอคางดำเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และนำไปสู่ประโยชน์ในหลายมิติ 

                     พลังชาวเพชรบุรีช่วยปราบ“ปลาหมอคางดำ”พลิกสู่โอกาสสร้างรายได้

นายอัมพร โชยา ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำกลุ่มเหมืองตาหลอ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า การมีส่วนร่วมของชุมชน คือ หัวใจหลักในการกำจัดและลดประชากรปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรในพื้นที่ช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบปลาหมอคางดำจะช่วยกันจับปลาขึ้นมาทันทีโดยไม่รอการดำเนินการจากหน่วยงานภาครัฐ 

การบูรณาการความร่วมมือกำจัดปลาหมอคางดำของชาวบ้าน นอกจากจะป้องกันการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงจิตสำนึกร่วมในชุมชนต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 

                        พลังชาวเพชรบุรีช่วยปราบ“ปลาหมอคางดำ”พลิกสู่โอกาสสร้างรายได้

ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่บางขุนไทรได้ปรับตัวโดยนำปลาหมอคางดำที่จับได้มาใช้เป็นปลาเหยื่อ เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลากะพง ช่วยลดต้นทุนการซื้ออาหารสำเร็จรูป ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงปลา 

สำหรับปลาหมอคางดำที่มีขนาดใหญ่หน่อย ก็จะถูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารหลากหลายเมนู เช่น ปลาแดดเดียว ปลาเค็ม หรือแม้แต่การปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านอื่นๆ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน และทำเป็นสินค้าชุมชนสร้างรายได้เสริม เป็นการเพิ่มคุณค่าจากการใช้ปลาหมอคางดำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบกึ่งธรรมชาติ ได้ยกระดับมาตรการป้องกันปลาหมอคางดำรุกรานสัตว์น้ำที่เลี้ยง โดยติดตั้งตาข่ายกรองขณะเปิดน้ำเข้าบ่อ ป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในระบบบ่อเลี้ยง ซึ่งถือเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรตั้งแต่ต้นทาง

                            พลังชาวเพชรบุรีช่วยปราบ“ปลาหมอคางดำ”พลิกสู่โอกาสสร้างรายได้

ด้าน นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการดำเนินโครงการเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำ ที่จับได้จากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อส่งให้กรมพัฒนาที่ดินเพื่อผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ   

รวมทั้งการจัดกิจกรรมเชิงรุกเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดผ่านกิจกรรม ลงแขกลงคลอง และการปล่อยปลานักล่า มุ่งเน้นบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้ความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงน้อยกว่า 12 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร

จังหวัดเพชรบุรี ยังได้ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือเกษตรกรกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการจัดตั้ง “กองทุนปลากะพง” โดยได้รับการสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปลากะพงขาวเป็นปลานักล่ากินลูกปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง 

                      พลังชาวเพชรบุรีช่วยปราบ“ปลาหมอคางดำ”พลิกสู่โอกาสสร้างรายได้

รวมทั้งการช่วยสนับสนุนกากชา และเครื่องมือในการกำจัดปลาหมอคางดำให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ประมงเพชรบุรียังสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วม ให้เกษตรกร ชาวประมง ประชาชน เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการกำจัดปลาหมอคางดำ มุ่งเน้นการนำปลาหมอคางดำมาเพิ่มมูลค่าและแปรรูปเป็นอาหาร 

โดยสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาแดดเดียว จำหน่ายเป็นสินค้าชุมชน และยังขยายความร่วมมือกับซีพีเอฟ และเรือนจำกลางเพชรบุรีนำปลาหมอคางดำมาหมักทำเป็นน้ำปลาแท้ ตรา หับเผยเขากลิ้ง อีกด้วย

แนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นอีกตัวอย่างของการประสานพลังจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และชุมชน ในการพลิกปัญหาเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ควบคู่กับการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน