ติดตามสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนใกล้ชิด “นฤมล” สั่งพร้อมรับมือ ลดผลกระทบ

06 พ.ค. 2568 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2568 | 04:42 น.

“นฤมล“สั่งติดตามสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน พร้อมจัดการอ่างเก็บน้ำให้เก็บน้ำฝนไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า มั่นใจ แผนปฏิบัติการในลุ่มน้ำสำคัญ รับมือปริมาณฝนได้

 

ติดตามสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนใกล้ชิด “นฤมล” สั่งพร้อมรับมือ ลดผลกระทบ

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ศ.ดร.นฤมล ภิณโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และหัวหน้าพรรคกล้าธรรม(กธ.)กล่าวถึงแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝน 2568 ว่า ตนได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่กับการกักเก็บน้ำไว้ใช้จนถึงฤดูแล้งหน้าได้ไม่ขาดแคลน

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำมีการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่  เช่น ปิง วัง ยม น่าน เป็นต้น ในการแก้ปัญหาและลดผลกระทบประชาชน ควบคู่การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้นำมาใช้ประกอบกับแผนในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง

 

ติดตามสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนใกล้ชิด “นฤมล” สั่งพร้อมรับมือ ลดผลกระทบ

 

กรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 6 พ.ค.68  ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 43,339 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 19,402 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2567 (40.973 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54) มากกว่าปี 2567 จำนวน 2.366 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 42.58 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 131.97 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 32,9999 ล้าน ลบ.ม.


ส่วน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 40,903 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,364 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2567 (38,547 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 54) มากกว่า ปี 2567 จำนวน 2.356 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 34.44 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำระบายจำนวน 122.71 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 30,024 ล้าน ลบ.ม.

 

“การบริหารจัดการน้ำในปีนี้ทางกรมชลประทานไม่หนักใจ เพราะมีแผนการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงพื้นที่ในลุ่มน้ำสำคัญ การประเมินความต้องการใช้น้ำล่วงหน้า พัฒนาการตรวจวัด การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ นำเอาเทคโนโลยีหรือแบบจำลองทางอุทกวิทยามาสนับสนุนการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน-น้ำท่า เพื่อวิเคราะห์และวางแผนป้องกันล่วงหน้าสำหรับใช้เตือนภัย เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัย การวางแผนจัดสรรน้ำทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งให้มีความแม่นยำและทันต่อเหตุการณ์ โดยยึดหลักตามมาตรการรับมือฤดูฝนและมาตรการรับมือฤดูแล้งที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด”ศ.ดร.นฤมล กล่าว