กยท.ผนึกเครือข่าย "เลื่อนกรีดยาง” ออกไป 1 เดือน ดันราคายางพุ่ง

02 พ.ค. 2568 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2568 | 07:48 น.

“นฤมล”เผย กยท.จับมือเครือข่ายฯ "เลื่อนกรีดยางออกไป 1 เดือน ลดอุปทาน สร้างแรงกดดันต่อสมดุลของตลาด ทำราคายางพาราพุ่งกระฉูด ตลาดยางสุดคึกคัก

วันที่ 2 พ.ค. 2568 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าพรรคกล้าธรรม(กธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางพาราปัจจุบันว่า ยางทุกชนิดปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (2 พ.ค.) ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ราคาปรับขึ้นมา 70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)

ยางแผ่นดิบคุณภาพดี (ความชื้นไม่เกิน 3%)  ราคาปรับขึ้นมา 68 บาทต่อกิโลกรัม

น้ำยางสด ราคาปรับขึ้นมา 58.75 บาทต่อกิโลกรัม

ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ราคาปรับขึ้นมา 58 บาทต่อกิโลกรัม 

และ ยางก้อนถ้วย (DRC 70%) ราคาปรับขึ้นมา 40.60 บาทต่อกิโลกรัม

“ราคายางที่ปรับขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรมการเครือข่ายฯ และการยางแห่งประเทศไทย ในการขอความร่วมมือเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางเลื่อนฤดูกาลเปิดกรีดยางออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะทำการเปิดเดือน พ.ค. 2568 โดยให้เริ่มทำการเปิดกรีดเดือน มิ.ย. 2568 ซึ่งจะทำให้ผลผลิตยางหายไปจากระบบตลาดโลกไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน  

                     กยท.ผนึกเครือข่าย \"เลื่อนกรีดยาง” ออกไป 1 เดือน ดันราคายางพุ่ง    กยท.ผนึกเครือข่าย \"เลื่อนกรีดยาง” ออกไป 1 เดือน ดันราคายางพุ่ง

หากมูลค่าผลผลิตยางพาราชนิดแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) กิโลกรัมละ 72.04 บาท (ข้อมูลจากการประกาศราคายางของฝ่ายเศรษฐกิจการยาง กยท. ณ วันที่ 3 เมษายน 2568) โดยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 14,400 ล้านบาท ในช่วงเวลาดังกล่าว การลดลงของอุปทานนี้จะสร้างแรงกดดันต่อสมดุลของตลาด ส่งผลทำให้ตลาดโลกยางตื่น กลัวอนาคตซัพพลายจะขาดทำให้ผู้ค้าที่มีคำสั่งซื้อไว้จะต้องรีบซื้อ ของเก็บไว้ส่งมอบ ส่งผลทำให้ตลาดยางกลับมาคึกคักใหม่อีกรอบ” นางนฤมล กล่าว

นางนฤมล กล่าวย้ำว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นแก้ปัญหาด้านราคายาง เพื่อคลายความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรโดยเร็วที่สุด ในระหว่างเลื่อนเปิดกรีดยาง เกษตรกรชาวสวนยางสามารถบำรุงรักษาต้นยางให้แข็งแรงสมบูรณ์ เตรียมพร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อเปิดกรีด โดย กยท. จะสนับสนุนเงินกู้จากองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านโครงการสิบเชื่อระยะสั้น 

สำหรับสถาบันเกษตรกรกรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต ในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตยางพารา (สถาบันฯ ละ 1 สัญญา) วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท/ 1 สัญญา โดยปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือนโครงการสินเชื่อระยะสั้น สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตฯ เริ่มต้งแต่เดือน พฤษภาคม เป็นต้นไป  

นอกจากนี้ ตนได้มอบให้ กยท. ช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยางที่รับซื้อยางพาราโดยการช่วยหลือชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ทั้งนี้จะต้องมีเงื่อนไขเป็นผู้ประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมกับวางแผนซื้อโรงงานผลิตยางล้อ เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรมาแปรรูป เพื่อดึงอุปทานผลผลิตยางออกจากตลาด และเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีมาตรฐาน สร้างโอกาสทางธุรกิจและการตลาด ส่งเสริมให้มีแบรนด์สินค้ายางพาราเป็นของ กยท. รวมถึงเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น