นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท. มีมติเห็นชอบนำเรื่องเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ที่จะเวนคืนในพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนมิ.ย.นี้
ขณะเดียวกันตามแผนหลังครม.เห็นชอบจะส่งร่างพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ไปยังกฤษฎีกาตรวจสอบก่อนประกาศและมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2569
ทั้งนี้รฟท.จะของบเวนคืนที่ดินเพิ่มอีก 3 ปี ดังนี้ ปี 2569 จะขอรับจัดสรรงบประมาณ 200 ล้านบาท ในการสำรวจออกแบบโครงการฯ ปี 2570 ขอรับจัดสรรงบประมาณ 6,000 ล้านบาท และปี 2571 ขอรับจัดสรรงบประมาณ 6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568
ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะประมูลภายในปีนี้ โดยจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 7-8 สัญญา
ด้านพื้นที่ที่เวนคืนที่ดินของโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ประกอบด้วย พื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ประกอบด้วยที่ดิน จำนวน 1,991 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,345 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 1,428 รายการ ด้วยวงเงิน 12,418.61 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีโครงการฯ ดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นหลังสถานีนครราชสีมา และจุดสิ้นสุดที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) รวมทั้งหมด 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย รวมถึงยังมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Deport) 2 แห่ง ที่นาทา และเชียงรากน้อย
ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) 4 แห่ง ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา รวมถึงย่านเก็บตู้สินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่งที่นาทา รวมระยะทางประมาณ 357.22 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางสายใหม่ One Belt One Road (OBOR) โดยจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและขนส่งระหว่าง 3 ประเทศ ไทย–ลาว–จีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมทั้งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการเชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองรอง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เข้าถึงกันอย่างไร้รอยต่อ