กกท.ผนึกเย่ห์กรุ๊ปนำนวัตกรรม drydye ปลุกสิ่งทอเติบโตยั่งยืน

31 ส.ค. 2565 | 15:05 น.

กกท.ผนึกเย่ห์กรุ๊ปนำนวัตกรรม drydye ปลุกสิ่งทอเติบโตยั่งยืน ตอบสนองกับนโยบาย BCG Model ปลูกจิตสำนึกผู้มีส่วนร่วมทางการกีฬา

นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เปิดเผยว่า กกท. ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท เย่ห์กรุ๊ป จำกัด เจ้าของนวัตกรรม “drydye” ที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ  ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองกับนโยบาย BCG Model ในการทำยูนิฟอร์มใหม่ของ กกท. 

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกผู้มีส่วนร่วมทางการกีฬา อาทิ ผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์การกีฬา ผู้จัดการกีฬา และสาธารณชน ให้เกิดพฤติกรรมภายใน  ได้แก่ การมีน้ำใจนักกีฬา เพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม เห็นความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรที่ใช้ในกิจกรรมกีฬา โดยสามารถนำทรัพยากรไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   

สำหรับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น ได้กำหนดนโยบายโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio – Circular – Green Economy: BCG Model) ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการการท่องเที่ยวและกีฬาสีขาว เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

นายวุฒิพงศ์ เย่ ประธานกลุ่มธุรกิจเย่ห์กรุ๊ป กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการสนับสนุน กกท. คือแนวคิด BCG ของกกท.ที่ต้องการเป็น Circular  และGreen Economy  ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจของเย่ห์กรุ๊ป และ drydye ซึ่งเป็นนวัตกรรมแรกของโลกที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำเป็นการประหยัดค่าพลังงาน  ค่าสี ค่าเคมี  ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  

 

กกท.ผนึกเย่ห์กรุ๊ปนำนวัตกรรม drydye ปลุกสิ่งทอเติบโตยั่งยืน

 

อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องบำบัดน้ำเสีย  เพราะนวัตกรรมดังกล่าวใช้คาร์บอนไดออกไซด์( CO2)ในการย้อมผ้าโดยสามารถรีไซเคิล CO2กลับมาใช้อีก  ทั้งหมดนี้คือกระบวนการที่ภาคธุรกิจทำได้ ซึ่งตรงกับแนวนโยบาย SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 เป้าหมายซึ่งมีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ 7 ข้อซึ่งสามารถทำได้ อาทิ เรื่องน้ำ อากาศเสีย สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2012 ในกิจกรรมกีฬาไทยตอนนี้เย่ห์กรุ๊ปและ drydye ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในThai Run ทั้งหลาย เช่น Park Run ของ TTB งาน KU Run ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Chula Run  ของจุฬาฯ หลังจากเติบโตในต่างประเทศโดยเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิกและงานวิ่งระดับโลก  

นายวุฒิพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอถูกมองว่าเป็น Sunset Industry มาโดยตลอด และยังเป็นที่รังเกียจของสังคมเพราะเดิมทำให้เกิดน้ำเสีย ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอต้องย้ายฐานการผลิตออกจากไทย  

 

แต่หากศึกษาให้ละเอียดจะพบว่า  อุตสาหกรรมสิ่งทอมีต้นทุนด้านแรงงานแค่ 15% อีก 85% คือวัตถุดิบ  สีเคมี  ดังนั้นถ้าเราสามารถรีไซเคิลกระบวนการผลิตได้  อุตสาหกรรมสิ่งทอจะไม่ใช่ Sunset จะสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆในการผลิตสินค้าคุณภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้

 

“หากสู้กับ Sunset Industry ด้วยต้นทุนมีแต่ตาย แต่ถ้าสู้ด้วยนวัตกรรมเราสามารถจะควบคุมต้นทุนได้ เรามีเป้าหมายว่าจากปี 2025-2040 จะพยายามลดต้นทุนด้วยการลดการใช้น้ำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040”