ธุรกิจลักชัวรี่ปรับตัวอย่างไร ในภาวะเงินเฟ้อพุ่ง

10 ก.ย. 2565 | 02:47 น.

ธุรกิจลักชัวรี่ –ไฮเอนด์ ปรับตัวท่ามกลางกระแสเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภค มุ่งจับตลาดกลุ่มไฮเอนด์ ที่มีเงินออมสูง ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อต่ำ สะท้อนธุรกิจที่โตสวนกระแสเงินเฟ้อพุ่ง

อัตราเงินเฟ้อไทยที่สูงต่อเนื่องมาตั้งแต่กลาง ล่าสุดเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว 7.86% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทย 8 เดือนขยายตัวแล้ว 6.14%  ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและนานจนเกินไป จะส่งผลให้สินค้า-บริการแพงขึ้น ภาพรวมการบริโภคลดลง  สวนทางค่าครองชีพที่สูงขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาของแพงจะกระทบกำลังซื้อ แต่ผลกระทบของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน  โดยเฉพาะกลุ่มกำลังซื้อสูง หรือ ผู้บริโภคระดับบน-ไฮเอนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะมีเงินออมสูง ส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจน้อยและยังคงมีกำลังซื้อ สามารถมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ธุรกิจที่จับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคระดับบน-ไฮเอนด์ ยังสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้ดีต่อเนื่อง

นายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พราว เรียล เอสเตท  หรือ PROUD เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจช่วงครึ่งหลังปี 2565 กำลังซื้อกลุ่มลูกค้าอสังหาฯ ระดับลักชัวรี่ในประเทศ ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการซื้อสินทรัพย์ที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

นายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พราว เรียล เอสเตท จำกัด

อีกทั้งหลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวในไทย จะดึงดูดชาวต่างชาติกำลังซื้อสูง อาทิ ชาวจีน รัสเซีย และกลุ่มชาวต่างชาติ ที่ต้องการที่พักอาศัยช่วงวัยเกษียณ หรือ พักระยะยาว สามารถเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทย  ส่งสัญญาณให้กำลังซื้อตลาดอสังหาฯในประเทศกลับมาสู่ปกติ ซึ่งผลประกอบการของบริษัท มีแนวโน้มเทิร์นอะราวด์ทั้งรายได้และกำไร จากการทยอยรับรู้รายได้การโอนกรรมสิทธิ์โครงการ อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน ที่ทยอยเข้ามาในช่วงไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป

สำหรับไตรมาส 2/265 บริษัทมีรายได้รวม 110 ล้านบาท โต 100 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ไม่มีการรับรู้รายได้ เนื่องจากเริ่มมีการโอนกรรมสิทธิ์ และมีขาดทุนสุทธิ 19.9 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ในส่วนของรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการขายและทยอยส่งมอบโครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหินอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะได้เห็นกำไรอย่างเด่นชัด

 

นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ชิค รีพับบลิค (CHIC)กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง 2565 มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ความต้องการซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายหน้าร้าน ช่องทางจำหน่ายออนไลน์ปรับตัวดีขึ้น

นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน)

ส่วนธุรกิจงานโครงการ และธุรกิจบริการออกแบบตกแต่ง มีปัจจัยหนุนจากตลาดอสังหาฯ เปิดตัวโครงการทั้งแนวราบและแนวสูงอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจบริการออกแบบ ตกแต่ง และให้เช่า รับจัดตกแต่งเฟอร์นิเจอร์

 

นอกจากนี้บริษัทมีรายได้จากการให้บริการพื้นที่เช่าร้านค้า โดยคัดเลือกแบรนด์ที่มีชื่อเสียง และคุณภาพ ช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเยี่ยมชมสินค้า สร้างความครบวงจร  ตอบโจทย์ กิน ดื่ม ช้อปครบไว้ที่เดียวและเตรียมขยายพื้นที่เช่าเพิ่มช่วยสร้างรายได้ประจำ ซึ่งผลประกอบการฯครึ่งแรกปี 2565 มีรายได้รวม 440 ล้านบาท เติบโต 124% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิ 15 ล้านบาท เติบโต 3.38%

 

นายชนัตถ์ สรไกรกิติกูล ประธานกรรมการการเงินและบริหารความเสี่ยง บมจ. แพรนด้า จิวเวลรี่ (PDJ) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัจจัยลบต่างๆ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน  การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น  แต่อุตสาหกรรมกลุ่มลักชัวรี่ (Luxury Industry) มีโอกาสเติบโตขึ้น

นายชนัตถ์ สรไกรกิติกูล ประธานกรรมการการเงินและบริหารความเสี่ยง บมจ. แพรนด้า จิวเวลรี่

สอดคล้องกับทิศทางของยอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 2 และตัวเลขช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่บริษัทฯมีออเดอร์ในมือสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความต้องการของผู้บริโภค ของฐานลูกค้าบริษัทฯ อีกทั้ง มุ่งเน้นการสร้างฐานลูกค้าเชิงกลยุทธ์ที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้บริษัทฯมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมถึงมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับลูกค้าในรูปแบบ Strategic Partner มีการวางแผนร่วมกันในระยะยาวกับลูกค้ารายสำคัญ 

 

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 บริษัทฯมียอดขาย 878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.75% มีกำไรสุทธิ 73 ล้านบาท เติบโต 228.46 % เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากกลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 77% มียอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส 2/2565 สาเหตุหลักจากการวางแผนร่วมกับลูกค้าในการส่งออเดอร์ล่วงหน้าเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้ง ยอดขายในกลุ่ม Omni-channel ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 23% ของยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น จากสภาพตลาดในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว