ประชุม ศบค.วันนี้ ลุ้นเคาะลดสถานการณ์ไวรัสโควิด เป็น "โรคที่ต้องเฝ้าระวัง"

19 ส.ค. 2565 | 00:35 น.

ประชุม ศบค.วันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ชงลดระดับสถานการณ์โรคติดต่อ"โควิด" เป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" และแผนกระจายยาให้ร้านขายยาชั้นหนึ่งสามารถจำหน่ายได้ ย้ำ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ยังจำเป็น

19 ส.ค.65 การประชุมศบค.ชุดใหญ่ วันนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  จะนำเสนอ ให้ที่ประชุมรับทราบถึงมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ว่าด้วยเรื่องของการลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง

 

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 19 สิงหาคม จะพิจารณาข้อเสนอของ กระทรวงสาธารณสุข ที่จะกำหนดกรอบแนวทางโรคโควิด-19 เป็นโรคที่จะต้องเฝ้าระวัง 1 ตุลาคม  เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ โควิด-19 เป็นอำนาจของ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

 

อ่านเพิ่มเติม  :  ททท.ชงศบค.19 ส.ค.นี้ขยายเวลาพำนักวีซ่าท่องเที่ยวสูงสุดไม่เกิน45วัน

 

 

ส่วนเมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวังแล้ว จะยุบ ศบค.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งจะต้องประเมินว่าจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายพิเศษหรือไม่ ส่วนข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิง จนถึงเวลาตี 4 นั้น พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะไปพิจารณา

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังจำเป็น

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ เห็นว่า ขณะนี้ยังมีความจำเป็นใช้ เพราะจะต้องกำกับควบคุมคนเดินทางเข้าออกประเทศ และห้ามในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะก่อเกิดให้เกิดโรคระบาด ขณะเดียวกัน แม้ดูเหมือนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่มาตรการในการรองรับ ทั้งการรักษาพยาบาล การกระจายยา การดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วย ที่ประชาชนดำเนินการอยู่ เป็นไปในทิศทางที่ดี

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ในการพิจารณาในที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ จะเน้นไปที่แผนกระจายยา ที่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกระจายไปยังโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเวชกรรมแล้ว ต่อไปก็จะขยายไปยังร้านขายยาชั้นหนึ่งให้จำหน่ายยาได้ ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เตรียมแผนนำไปสู่การประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง และรองรับการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดใหญ่ที่จะต้องบูรณาการกับจังหวัดปริมณฑล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจะพิจารณาถึงการเปิดด่านชายแดนหลังจากที่มีการผ่อนคลายเปิดไปแล้วหนึ่งเดือนผ่านมา รวมถึงรับทราบรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวด้วย