"ปตท.- จ.นครสวรรค์" พัฒนาพลังงานสะอาดดันสู่เมืองต้นแบบเมืองอัจฉริยะ

17 ส.ค. 2565 | 08:27 น.

"ปตท.- จ.นครสวรรค์" พัฒนาพลังงานสะอาดดันสู่เมืองต้นแบบเมืองอัจฉริยะ Smart Energy – Smart City และเป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน

ดร. บุรณิน  รัตนสมบัติ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์พัฒนาโครงการนวัตกรรมพลังงาน อาทิ การผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การบริหาร จัดการพลังงาน 

 

ตลอดจนนำยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ มาใช้ส่งเสริมการเดินทางและการขนส่ง  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต้นแบบด้านพลังงานสะอาด และเป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทยตลอดจนต่อยอดธุรกิจด้วยการแสวงหานวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้าน พลังงานแห่งอนาคต และรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน 

สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งดังกล่าวนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ กลุ่ม ปตท. จะได้นำเอาองค์ความรู้ด้านพลังงาน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม  มาสนับสนุนจังหวัดนครสวรรค์ โดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะแกนนำ นวัตกรรม ธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. (the innovative power flagship of PTT Group) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลังงาน 

 

พร้อมนำโซลูชั่น และเทคโนโลยี เข้ามา ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายเพื่อให้ตอบโจทย์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลกโดยจะเข้าไปร่วมศึกษาและพัฒนาโครงการนวัตกรรมทางด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และในด้านการเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 

 

"ปตท.- จ.นครสวรรค์" พัฒนาพลังงานสะอาดดันสู่เมืองต้นแบบเมืองอัจฉริยะ

 

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. จะเข้ามาช่วยสนับสนุน ให้มีการใช้งาน ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ครอบคลุมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ภาคขนส่งและการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ให้พร้อมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต้นแบบด้านพลังงานสะอาด ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนอื่น ๆ เพื่อพัฒนา คุณภาพชีวิตของคนในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนได้ต่อไป  

นายชยันต์  ศิริมาศ  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบนจึงได้รับสมญานามว่าเป็น "ประตูสู่ภาคเหนือ" มีพื้นที่ประมาณ 9,597 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,998,548 ไร่

 

ซึ่งในปี 2563 จังหวัดนครสวรรค์มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม จำนวน 111,441 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือรองจากจังหวัดเชียงใหม่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว จำนวน 121,070 บาทต่อคนต่อปี พื้นที่ทางเกษตร จำนวน 4,700,565 ไร่ คิดเป็น 78.36% ของพื้นที่จังหวัดมีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 702 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 92,831 ล้านบาท 

 

จากโอกาสและศักยภาพของจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูปประเทศ และนำหมุดหมาย จากร่างแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มากำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดหนึ่งในประเด็นการพัฒนาจังหวัดที่สำคัญ คือ ด้านพลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับยานยนต์ไฟฟ้า 

 

จังหวัดนครสวรรค์ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่จัดขึ้นที่ประเทศสกอตแลนด์ โดยใช้ BCG MODEL ในการพัฒนา ด้วยศักยภาพ ของจังหวัด อยู่ในพื้นที่ที่ความเข้มของแสงอาทิตย์ เหมาะสมสำหรับการผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ 

 

ประกอบกับมีพื้นที่แหล่งน้ำที่เหมาะกับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์แบบทุ่นลอย หรือ Floating Solar เช่น บึงบอระเพ็ด บึงเสนาท ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน ที่สำคัญและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้ทั้งในภาคการเกษตร ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในพื้นที่โดยรอบ 

 

สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลจากฟางข้าว ในแต่ละปีจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณฟางข้าวกว่า 1 ล้าน 7 แสนตัน สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 160 เมกะวัตต์ต่อปี ช่วยลดการเผาเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และในมิติของยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันในอนาคตนั้น 

 

จังหวัดนครสวรรค์เป็นทางผ่านสู่ภาคเหนือและด้วยระยะทาง 239 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานครมาถึงจังหวัดนครสวรรค์เป็นระยะทางที่เหมาะสมสำหรับการจอดพักเพื่อชาร์จพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถขนส่งเชิงพาณิชย์ ที่ไม่สามารถจอดพักได้บ่อยแต่จะจอดเฉพาะจุดที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ให้เป็น EV Charging Station Hub จึงถือว่ามีความเหมาะสม และเป็นโอกาสในการพัฒนาเชิงพื้นที่และจะส่งผลไปสู่ภาคธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง