นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวนการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลังเพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลเศรษฐกิจ ต้องเน้นไปที่การลงทุน
มาตรการประชานิยมพักหนี้ แจกเงิน อาจไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บรรเทาปัญหาวิกฤติหนี้สิน
โดยการใช้จ่ายเงินภาครัฐจากการกู้เงินจึงต้องให้ตรงเป้าหมาย เกิดผลตามนโยบาย มีประสิทธิภาพ และต้องตระหนักว่า ขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยที่ระดับ 64.21% นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแล้ว
หากก่อหนี้สาธารณะอีก 5 แสนล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นจึงไม่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นจนต้องขยับเพดาน
ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loans) อาจช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินของ SMEs ได้บ้าง ลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของ SMEs ได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้มีการปรับโครงสร้างภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อพลวัตอุปสงค์ตลาดโลก
มาตรการ Soft Loans จึงต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ ปฏิรูประบบการให้สิทธิพิเศษการลงทุนต่างชาติ การลงทุนต้องทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการผลิตของไทย
และต้องมีมาตรการกำกับควบคุมไม่ให้มีการสวมสิทธิเพื่อการส่งออกโดยไม่ได้ทำการผลิตใดๆในไทยหรือใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบในไทยเพียงเล็กน้อย บางทีก็เป็นเพียงการทำ Transshipment ขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าประเทศหนึ่ง ไปยัง เรือสินค้าจากไทย และ มีติดฉลากว่า Made in Thailand