เอกชน หนุน แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ชี้ นักลงทุนมองไทยเป็นฐานลงทุนที่ดี

23 ก.ย. 2565 | 08:00 น.

เอกชน หนุน แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ชี้ นักลงทุนต่างชาติมองไทยยังเป็นฐานลงทุนที่ดี ยัน พลิกโฉมประเทศทุกฝ่ายต้องจับมือเดินหน้าร่วมกัน

จากวงเสาวนา พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกันร่วมขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (แผนฯ 13) สร้างอนาคตไทย ซึ่งจัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในวันนี้ 23 กันยายน 2565 ในช่วงของการแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองของผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้นั้น นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ได้สะท้อนความเห็นพร้อมตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจในการพัฒนาประเทศว่า ปัจจัยที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้ากลายไทยโดดเด่นทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการในเซคเตอร์ใหม่ ๆ  

 

ส่วนแรก คือ ประเทศไทยมีบุญเก่าในเรื่องของการโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่ดีและเป็นเรื่องน่ายินดีที่แผนฯ ฉบับที่ 13 นั้นมีสิ่งที่ตอบโจทย์ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นจุดสนใจของนักลงทุทนทำให้ไทยยังเป็นประเทศจุดหมายของการลงทุนอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ แผนพัฒนาในเรื่องของอีวี ที่ทำให้บริษัทระดับโลกตัดสินใจมาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตอีวีฮับนอกประเทศแห่งแรกของโลก เป็นสิ่งยืนยันว่า ไทยยังเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจอยู่ 

 

กล่าวคือ ถ้าอุตสาหกรรมใดก็ตามที่ต้องการเรื่องการมีโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่ดี ต้องการแรงงานที่มีทักษะที่ดี รวมถึงการสนับสนุนมาตรการจากภาครัฐ เช่น เรื่องของภาษีประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจ

 

อย่างไรก็ดี เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องมีการพัฒนาต่อ ขณะเดียวกันสิ่งที่อยากจะเห็นต่อไปซึ่งพูดกันมานาน นั่นก็คือ ภาครัฐที่จะต้องมีความทันสมัย ต้องมีขนาดเล็กลง อยากเรียกร้องให้ปฏิรูปอย่างจริงจัง ลดการใช้กระดาษลง สุดท้าย คือ เรื่องของคน การผลิตบุคลากรที่ต้องมีความพร้อม งานวิจัยที่ไม่ควรอยู่แต่บนหิ้ง 

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายของนักลงทุนอยู่แต่จะเตรียมพร้อมอย่างไร เพราะวันนี้ก็มีคู่แข่งขันที่พร้อมจะแข่งขันกับเราในเวทีนี้เช่นกัน สิ่งสำคัญวันนี้ คือ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันสร้างเพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้  

 

ถามว่า กลยุทธ์อะไรที่จะดึงความสนใจนักลงทุนต่างชาติเข้าไทยต้องทำอย่างไรท่ามกลางบรรยากาศในปัจจุบัน มองว่า การเกิดภูมิรัฐศาสตร์นั้นเป็นเรื่องปกติมาก เดิมเคยมองกันว่าประเทศที่มีประชากรมาก คือ ภาระของโลก วันนี้ความคิดนี้เปลี่ยนไป ประเทศที่มีประชากรมาก คือ ประเทศที่มีกำลังซื้อมากซึ่งนั่นก็คือ จีน อินเดีย แล้วเมื่อไทย คือ ศูนย์กลางในภูมิภาคนี้เราจะวางกลยุทธ์ เราจะตั้งรับวางแผนการเคลื่อนย้ายทุนอย่างไร

 

ในส่วนของภาครัฐต้องไม่ใช่แค่การเปิดประตูรับแต่ต้องเดินไปหาไปฟังความต้องการของนักลงทุนแล้วดึงเข้ามา ภาครัฐต้องลุยไปหาเขาภายใต้เงื่อนไขที่เราต้องได้ประโยชน์ด้วย วางโรดแมปให้ดี เปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้มีอำนาจ ของผู้ประกอบการ มายด์เซ็ตที่ว่า อย่ารอให้เขาเดินมาหาเราแต่เราต้องออกไปชวนเขามา ภาคผู้ประกอบการรายเล็กก็ต้องช่วยตัวเองก่อนโดยทำร่วมกัน 

ด้านนายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกรบิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวเช่นเดียวกันว่า ในแผนฉบับที่ 13 ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องของการพัฒนาคนนับเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ หากไม่มีเรื่องนี้ประเทศก็ไปต่อไปได้ ประเทศไทยจะไม่มีวันเปลี่ยนถ้าการศึกษาไทยไม่เปลี่ยน วันนี้สิ่งสำคัญของการศึกษา คือ การมีเครื่องมือที่เหมาะสมแล้วมอบอำนาจให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ เข้าถึงการศึกษาได้ด้วยตัวเอง 

 

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนๆเดียวได้ต้องเกิดจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐที่กำหนดนโยบาย มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ เลยไปถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำงานร่วมกัน เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อแก้โจทย์นี้ร่วมกัน โดยมองคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างอีโคซิสเตม ขณะที่ภาคเอกชนมีตั้งแต่สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี และผู้ผลิตต้องร่วมมือกันสร้างให้เกิดขึ้น 

 

จากงานวิจัยระบุว่า ทักษะที่คนรู้อย่างต่ำ 35-40% ปีหน้าก็ใช้ไม่ได้แล้ว ความรู้หมดอายุเร็วมาก ความรู้เหมือนมาม่า คือหนึ่งนาทีก็อืดแล้ว ความรู้เป็นแบบนั้น ความรู้ไม่ใช่ไวน์ ที่สำคัญ คือ กว่าจะเรียนมาจบมาแล้วเมื่อจบมาความรู้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว  

 

ที่สำคัญ คือ ต้องทำทั้งห่วงโซ่ เราไม่สามารถที่จะทำเฉพาะส่วนได้ ต้องทำตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแต่ก็ต้องทำให้ได้ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็ไปไม่ได้ และต้องทำทุกอย่างเพื่อดึงองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ เข้ามาประเทศไทย พร้อมกับรีสกิลคนไทยไปพร้อมกันๆซึ่งทุกหน่วยงานสามารถผนึกพลังกันได้ เรื่องนี้ไม่ต้องใช้เงินมหาศาล เพียงแต่ต้องครีเอทีฟสร้างโซลูชั่นใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี 

 

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาเรื่องของ ภาวะการเรียนรู้ทดถอยนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงต้องนำเด็กกลุ่มเข้ามาสู่ระบบการศึกษาให้ได้ จากนั้นก็ใช้กลยุทธ์ในการนำเด็กเข้าสู่การระบบการศึกษาโดยสร้างแรงจูงใจให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงตัวเด็กเองด้วย และใช้ชุมชนเป็นฐาน เช่น ให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถสอนคนในชุมชน เป็นต้น 

 

สิ่งที่ต้องมีคือ การออกแบบหลักสูตร ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ สร้างครู รีสกิลครู และดึงเด็กเข้าสู่การศึกษา เป็นต้น เหล่านี้ต้องแก้ทั้งองคาพยพ บางอย่างต้องแก้ที่กฎหมาย เช่น คนที่จะเป็นครูต้องจบครูมาเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น

 

"วันนี้เทคโนโลยีคือคีย์สำคัญที่ทำให้เกิดการก้าวกระโดดทางการเรียนรู้ ดังนั้น การเข้าถึงเทคโนโลยีจะทำให้การรีสกิลเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกันการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ใหม่ ๆ วันนี้เราต้องเร่งเครื่องรีสกิล และอัพสกิลคน ซึ่งเทคโนโลยีช่วยได้ วันนี้ทุกอย่างอยู่ที่มือเราเพียงแค่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เช่น กำหนดให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการรีสกิลคนทั้งประเทศ reskilling Thailand ตั้งเป้าหมายเรียนรู้ร่วมกันทั่วประเทศ เป็นต้น 


ทั้งนี้ สำหรับแผนฯ 13 กำหนดเป้าหมายเอาไว้ 5 เป้าหมายสำคัญ ที่ต้องทำให้ได้ในช่วง 5 ปี ดังนี้

  • การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม รายได้ต่อหัวคนไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อคนต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 แสนบาทต่อคนต่อปี
  • การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง
  • การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนรวยสุดและจนสุดจากปัจจุบัน 6 เท่า เหลือ 5 เท่า
  • การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่า 20%
  • การสร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยง ทั้งโรคระบาด สภาพภูมิอากาศ ดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ