บีทีเอสร่อนหนังสือจี้ "ศักดิ์สยาม"รับผิดชอบสายสีส้มตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

23 ก.ย. 2565 | 07:27 น.

วงในคมนาคมแจง"บีทีเอส" ร่อนหนังสือ จี้ "ศักดิ์สยาม" ต้องรับผิดชอบผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังรฟม.-บอร์ดมาตรา 36 ปรับเกณฑ์ใหม่ เอื้อเอกชนบางราย -จ่อกีดกันการแข่งขัน

 

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมอ้างว่า เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือBTSC ได้มีจดหมายถึงรัฐมนตรีคมนาคม ในฐานะ ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติร่วมลงทุนพ.ศ. 2562 มาตรา 42 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 มาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่นำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีและมีหน้าที่ในการพิจารณา

 

ตามกฎหมายกำหนดว่า รัฐมนตรีจะต้องพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหากทราบว่าโครงการดังกล่าวมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฮั้วประมูลต้องมีคำสั่งยกเลิก มิเช่นนั้นตัวรัฐมนตรีเองจะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งอัตราโทษที่กำหนดไว้ สูงถึง 10 ปี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยมีรายละเอียด คัดค้าน และไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วง บางขุนนนท์ -มีนบุรี  ตามประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดังนี้

 

1. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่ กค. 0802.1/879 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562เสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้นำเรียนคณะรัฐมนตรี พิจารณา อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 

 

2. รายงานการศึกษาโครงการและวิเคราะห์โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน - มีนบุรี ฉบับวันที่ 6 กันยายน 2561

 

3. หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ นร 0505/ 3580 วันที่ 30 มกราคม 2563 แจ้งมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

 

4. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร.0903/5 วันที่ 7 มกราคม 2564 แจ้งเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี มตีให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาผลการเสนอราคา ภายหลังที่กระบวนการ เสนอราคาได้เริ่มต้นแล้ว โดยมิได้ยกเลิกการเสนอราคาก่อน ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไป

 

 

5. หนังสือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ นร 1106/4058 วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ถึง คณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ความล่าช้าก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสของผลประโยชน์ทางด้าน เศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 46,284.9 ล้านบาทต่อปี ( ณ ปี 2568)

 

6. หนังสือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอให้ตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีการดำเนินการในลักษณะกีดกัน และเอื้อ ประโยชน์ ต่อผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใด 7. หนังสือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอให้ตรวจสอบและกำกับดูแลการปฏิบัติ หน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือก วันที่ 6 กันยายน 2565

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียด ประกอบด้วย

1. คำพิพากษาคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2280/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 192/2565 ประเด็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก

2. คำพิพากษาคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 580/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1455/2565 ประเด็นการยกเลิกประกาศเชิญชวน ปี 2563

3. คำฟ้องคดีศาลปกครองกลาง การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ตามประกาศเชิญชวน ฉบับ เดือนพฤษภาคม 2565 หมายเลขดำที่ 1646/2565

4. หนังสือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะ ของเอกชนที่ไม่สมควรให้เข้าร่วมลงทุน ลงวันที่ 6 กันยายน 2565 เป็นต้น

 

ตามรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน - มีนบุรีฉบับวันที่ 6 กันยายน 2561 และสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ทราบและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และต่อมา รฟม หน่วยงานเจ้าของโครงการ

 

 

ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562(คณะกรรมการคัดเลือกฯและ พรบ.ร่วมลงทุนฯ เพื่อดำเนินการคัดเลือกเอกชน นั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนทุกฝ่ายก่อนจัดทำร่างประกาศเชิญชวนฯ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วจึงได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนฉบับแรกในเดือนกรกฎาคม 2563 เข้าร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว มีเอกชนผู้สนใจเข้าซื้อซองการประมูล จำนวน 10 ราย

 

 

ทั้งนี้ภายหลังจากที่มีการปิดขายซองการประมูลแล้วปรากฎว่ามี บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ("ITD") ได้มีหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ("สคร.") เสนอให้เปลี่ยนแปลงหลักกณฑ์การคัดเลือกในการพิจารณาผู้ชนะการประมูล และผู้อำนวยการ สคร.) ได้ส่งหนังสือดังกล่าวมาให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณา

 

ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ขั้นตอนตามกฎหมายและไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้ดำเนินการเช่นนี้ และจากหนังสือดังกล่าว รฟม. ได้จัดทำแนงทางการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกตามข้อเสนอของหนังสือดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณา โดยในการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผู้แทนจากสำนักงานงบประมาณ ได้คัดค้าน

 

เพราะเห็นว่า การแก้ไขดังกล่าวขัดต่อมติ ครม.และมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่วนใหญ่กลับไม่สนใจต่อคำทักท้วงและมีมติให้แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการประมูลในวันเดียวกันทันที

 

 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์นี้ ไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้ เวลาดำเนินการเพียง 9 วันหลังจากได้รับหนังสืออันเป็นการกระทำที่ส่อถึงข้อพิรุธและข้อสงสัย และไม่เคยมีการกระทำลักษณะนี้มาก่อนนอกจากที่เรียนมาข้างต้น  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีหนังสือฉบับลงวันที่ 7 มกราคม2564

 

ที่อ้างถึง  หนังสือของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่ามีมติให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาผลการเสนอราคา ภายหลังที่กระบวนการเสนอราคาได้เริ่มต้นแล้ว โดยมิได้ยกเลิกการเสนอราคาก่อน ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไป ต่อมาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ที่อ้างถึง หนังสือของคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ว่า

 

 

ความล่าช้าก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสของผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าประมาณ46,284.9 ล้านบาทต่อปี (ณ ปี 2568) บริษัทฯ จึงนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และ ศาลปกครอง กลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับไมให้ใช้หลักเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่น ("คำสั่งทุเลาการบังคับฯ"

 

ต่อมาได้มีคำพิพากษายืนยันว่า หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเดิม ตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 นั้น ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายละเอียดตามปรากฏตาม

 

 

 

ขณะเดียวกันในระหว่างนั้นมีกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมแข่งขันสองกลุ่ม คือ ผู้ประกอบการราย บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ("บริษัทฯ") และพันธมิตร กับ กลุ่มของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ("BEM") ซึ่งเป็นบริษัทที่ รฟม. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในลำดับที่ 2

 

 

เท่านั้นเมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. เห็นว่า การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แก้ไขไม่ สามารถนำมาใช้บังคับได้ จึงได้ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และเรียกให้ผู้ยื่นซองประมูลไปรับซองคืนโดยทุกบริษัทยื่นซองเสนอราคาได้ติดต่อขอรับซองเอกสารคืนทุกราย ยกเว้น บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSt ซึ่งประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า การประมูลโครงการนี้มีความผิดปกติ ไมโปร่งใสและไม่เป็นธรรมมีบุคคลจ้องหาผลประโยชน์ต่อโครงการนี้

 

การไม่ไปรับซองเอกสารการเสนอราคาคืน เพื่อเป็นหลักฐานในท้ายที่สุดให้ เห็นถึงผลประโยชน์ด้านราคาที่เอกชนเสนอขอรับจากรัฐว่า หากมีการแข่งขันราคาอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใสและเป็นธรรมรัฐจะได้ประโยชน์ด้านการเงินอย่างไร การยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มข้างต้นนี้

 

บริษัทฯ เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย จึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองกลางอีกเป็นคดีที่สอง คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในที่สุดว่ามติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม. ที่ให้ยกเลิกการประมูล

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายละเอียดปรากฎตาม สิ่งที่ส่งมาด้วย 2 คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. มีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องผูกพัน และปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางทั้งสองคดีข้างต้น และไม่สามารถดำเนินการเปิดประมูล

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ได้ โดยควรจะต้องเสนอปัญหาดังกล่าวให้ สคร. และคณะรัฐมนตรีพิจารณา สั่งการ แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กลับดำเนินการในทางตรงกันข้าม โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ได้ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนของโครงการพิพาท ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ("ประกาศเชิญชวนฯ") และเอกสารการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565

 

 

เพื่อจัดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งตามประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารการคัดเลือกเอกชน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดังกล่าว มีลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น ทำให้การประมูลโครงการพิพาทเป็นไปโดยไม่สมอภาค ไม่เท่าเทียม ไม่โปร่งใส

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการออกเอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าทีโออาร์ (TOR หรือ Terms of Reference) อันมีลักษณะกีดกัน การแข่งขันอย่างเป็นธรรม จนทำให้บริษัทฯ และกลุ่มพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและเคยเข้าร่วมการประมูลในครั้งแรก

 

 

ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลครั้งใหม่ได้ เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายได้เปรียบเอกชนรายอื่น บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีที่สาม คดีหมายเลขดำที่ 1646/2565

 

 

 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง รายละเอียดปรากฎตาม สิ่งที่ส่งมาด้วย 3บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอเข้าประมูลโครงการรัฐและมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาตลอดหลายสิบปีย่อมเข้าใจได้ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้

 

 

มีเจตนาที่ไม่สุจริตและน่าจะมุ่งหาผลประโยชน์จากโครงการ ดังนั้น นอกจากการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองกลางแล้ว บริษัทฯ ยังได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีหมายเลขดำ อท 30/2564 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกคดีหนึ่ง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

 

 

นอกจากนี้ยังมีประชาชนทั่วไปที่เห็นความไม่ถูกต้องของการกระทำดังกล่าว ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในสภาผู้แทนราษฎร และมีการร้องเรียนองค์กรตรวจสอบต่างๆ อีกมากมายนอกจากการกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ที่ออกประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารการคัดเลือกเอกชน

 

 

ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังปรากฎข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. มีพฤติการณ์สมรู้ร่วมคิดให้มีการอ้างข้อเท็จจริงเพื่อให้กระบนการคัดเลือกที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง ดำเนินการต่อไปจนจบกระบวนการโดยการประกาศให้ ITD ซึ่งเป็นหนึ่งในสองรายที่ยื่นข้อเสนอ เป็นผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) ทั้ง ๆ ที่ทราบโดยทั่วกันว่า ITD

 

 

มีนายเปรมชัย กรรณสูตเป็นกรรมการและเป็นผู้มีอำนาจลงนามในนาม ITD โดยนายเปรมชัย ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และปัจจุบันยังรับโทษอยู่ในเรือนจำ ดังนั้น กลุ่ม ITD จึงเป็นเอกชนที่มีคุณลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนและไม่มีสิทธิได้รับการคัดเลือก

 

เป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน ตาม พรบ.ร่วมลงทุนฯ มาตรา 33 ประกอบกับข้อ 3 (3) ข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

 

 ขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กลับปล่อยให้ ITD ผ่านคุณสมบัติและมาเป็นคู่เทียบในการประมูลครั้งนี้ รายละเอียดปรากฏตาม สิ่งที่ส่งมาด้วย 4ถ้า ITD ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติด้วยเหตุผลข้างต้นแล้ว ก็จะมีเพียง BEM ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ นี้เพียงรายเดียว

 

ที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และซองที่ 2 เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องถือว่าการประมูลครั้งนี้ไม่มีการแข่งขัน หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะอาศัยข้อกฎหมายที่จะให้มีเอกชนเพียงรายเดียวชนะการประมูลตามมาตรา 40 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนฯ คณะกรรมการคัดเลือกฯ สมควรต้องชี้แจงหรือตอบให้ได้ว่ารัฐจะได้ประโยชน์อย่างไร

 

 

โดยเฉพาะเกณฑ์ด้านราคา เนื่องจากข้อเสนอของ BEM ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติสูงสุดอย่างแท้จริง อีกทั้งขัดต่อหลักการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพราะทำให้รัฐต้องมีภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณเพิ่มเติม ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ อันเป็นเหตุผลและหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นการทำให้เห็นถึงการกระทำที่น่าจะไม่โปร่งใสและเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.

 

 

 

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 รฟม. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีสัมช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนทั้งสิ้น 2ราย คือ BEM และ ITD และกลุ่มพันธมิตร โดยมีผลการยื่นข้อเสนอผลประโยซน์สุทธิ (ข้อเสนอเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม.) คือ 1. BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท 2. ITD และกลุ่มพันธมิตร เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -102,635.55 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลดังกล่าว BEM จึงเป็นผู้เสนอขอรับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐต่ำสุดและเป็นผู้ชนะ การประมูลในวันที่ 12 กันยายน 2565 บริษัทฯ จึงได้เสนอหลักฐานสำคัญต่อหน้าสื่อมวลชน ด้วยการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาที่เคยเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐใน ปี พ.ศ.2563 โดยผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV)

 

 

ที่บริษัทฯ เสนอแก่รัฐนั้นเป็นจำนวน -9,675.02 ล้านบาท แตกต่างจากเอกชนผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ถึงเกือบ 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของบริษัทฯ ว่าที่คณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม. รวมทั้งผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังพยายามทำกันมาตลอด 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการที่ผิดครรลองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สุจริตต่างๆ รวมตลอดถึงการกีดกันไม่ให้บริษัทฯ มีโอกาสเข้าไปแข่งขันราคา

 

 

 

อย่างไรก็ตามตามที่นำเสนอข้างต้น แท้จริงเป้าหมายคือ ผลประโยชน์ทางการเงินที่มีจำนวนมหาศาลนี้นี่เอง ปรากฎหลักฐานตามจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินและประเทศชาติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ได้เคยนำเรียนมาแล้วหลายครั้งตามหนังสือที่อ้างถึง

 

 

และ 7 บริษัทฯ จึงเรียนมายังท่านอีกครั้งหนึ่งในฐานะ รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 42 แห่ง พรบ.ร่วมลงทุนฯ และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542

 

กรณีผู้ใดมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือการการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์แจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาครั้งนั้น มีการกระทำความผิด ต้องดำเนินการให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น ได้โปรดทราบและพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องดังกล่าวด้วยความสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐและไม่สนับสนุนการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในครั้งนี้ต่อไป