“ปลูกป่า ทําเงิน” เปิดแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตไทย หนุนลงทุนพลังงานสะอาด

21 ก.ย. 2565 | 06:30 น.

ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตคึกคัก รับแผนพลังงานชาติ เพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานสะอาด อบก.จับมือ ส.อ.ท.ผุดแพลตฟอร์มการซื้อขายอย่างเป็นทางการ คาดถึงปี 2065 มูลค่าคาร์บอนประมาณ 3.25 แสนล้านบาท ทส.ไฟเขียวเอกชนปลูกป่า 6 แสนไร่ สร้างรายได้ 90% เข้ากระเป๋า

เวทีสัมมนา “New Energy : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รับเกียรติจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาถกฐาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางอนาคตพลังงานไทย”

 

พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) Keynote Speaker ให้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย” และเวทีเสวนา จากวิทยากรผู้ทรงเกียรติชั้นนำของประเทศ

  • รุกพลังงานสะอาด-อีวี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากที่ประชาคมโลกพยายามจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยมีเป้าหมายการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ภายในปี 2608

 

ดังนั้น อนาคตพลังงานของไทย จำเป็นต้องมีทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก เพื่อขับเคลื่อนสู่ เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด จะมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น

 

รวมทั้ง การส่งเสริมการใช้ รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ให้เพิ่มมากขึ้น ที่จะเป็นการช่วยสร้างหรือเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก ทั้งการตั้ง สถานีชาร์จ การตั้งโรงงานแบตเตอรี่

 

สุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์

 

ขณะเดียวกันเทคโนโลยี Hydrogen และแอมโมเนีย ควบคู่กับ การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ประเทศจึงจำเป็นต้องยกระดับความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดเองในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้

 

ทั้งนี้ การจัดทำแผนพลังงานชาติ ที่จะประกาศออกมาใช้ในปี 2566 นั้น จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นต้นแบบ Decarbonization ของอาเซียนในการเปลี่ยนถ่ายระบบเศรษฐกิจไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในประเทศตามมาอีกมากมาย รวมถึงดึงดูดอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรม EV, Smart Electronics, เทคโนโลยีดิจิทัล, Cloud Service, Data Center และระบบสายส่งไฟฟ้าที่ต้องพัฒนาให้มีความฉลาดมากขึ้น (Smart Grid)

 

“ปลูกป่า ทําเงิน” เปิดแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตไทย หนุนลงทุนพลังงานสะอาด

ดังนั้น การขับเคลื่อนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และยังเป็นทางออกให้กับประเทศหรือรองรับกติกาใหม่ของโลก ที่จะนำเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีภาระที่ซ้อนอยู่ 9 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท จากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 350 ล้านตันต่อปี

 

อีกทั้ง การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังสามารถช่วยผู้ประกอบการในการสร้างรายได้ จากการนำคาร์บอนไปขายได้หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต หรือมีแต่การส่งเสริมการปลูก ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

 

วราวุธ  ศิลปอาชา

 

  • เปิดตลาดเทรดคาร์บอน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศได้ยกระดับวางเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ระดับ 40% จากที่มีการปล่อยอยู่ราว 338 ล้านตันต่อปี โดยจะขับเคลื่อนในนโยบายหลัก 6 ด้าน เพื่อพลิกวิกฤติของประเทศให้เป็นโอกาส ผ่านแนวคิด "เศรษฐกิจสีเขียว" ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงาน ประกอบด้วย

 

1.ด้านนโยบาย เช่น ขับเคลื่อนนโยบาย BCG โมเดล สร้าง นิว-เอสเคิร์ฟ ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการส่งเสริมภาคเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก

 

2. เร่งขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี

 

3. ด้านการค้า/การลงทุน โดยประสานกับ ‘บีโอไอ’ จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในสินค้าที่เป็นต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาต่าง ๆ เช่น พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ เป็นต้น และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนสีเขียว

 

4.ด้านการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดคาร์บอนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อ การขาย และถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2565 รองรับไว้แล้ว

 

อีกทั้ง อบก. ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขับเคลื่อนภาคเอกชนในการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เชื่อมต่อเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะมีการจัดขึ้นวันที่ 21 กันยายน 2565 ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 จะมีมูลค่าคาร์บอนประมาณ 325,450 ล้านบาท (ราคาคาร์บอนเฉลี่ยทั่วโลก ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565 เท่ากับ 1,415 บาทต่อตัน

 

  • ปลูกป่า 6 แสนไร่สร้างรายได้

 5.การผลักดันเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ (ไม้โตช้า) และปลูกป่าเศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) ในพื้นที่ป่าจำนวน 6 แสนไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

 

ปัจจุบันนี้ภาคเอกชนเริ่มเห็นแล้วว่าคาร์บอนเครดิตมีความสำคัญ ซึ่งโครงการนี้จะสอดคล้องกับแผนการ เปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเงื่อนไขการแบ่งปันคือ ผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10% ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชน เพื่อดูแลพื้นที่ป่า

 

6.ทส. อยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงินที่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา โดยคาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในสิ้นปี 2565 หรือ ต้นปี 2566

 

“ปลูกป่า ทําเงิน” เปิดแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตไทย หนุนลงทุนพลังงานสะอาด

 

  • ตลาดซื้อขายคาร์บอนคึกคัก

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)หรือ อบก. กล่าวว่า ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ อบก.จะลงนามกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในความตกลงประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต และเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) อย่างเป็นทางการ

 

เพื่อให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกัน จากเวลานี้มีผู้มาทำโครงการเพื่อนำสู่การซื้อขายกันมากขึ้น ซึ่ง อบก.พยายามทำอีโค ซิสเต็ม (ระบบนิเวศ) ให้มีการเข้ามาเทรด และได้มีการพัฒนาตัวระบบมาตรฐานให้เป็นระดับโลก เพื่อให้แลกเปลี่ยนกับประเทศอื่นได้ เช่น ไทยได้มีการลงนามความตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ไปก่อนหน้านี้

 

เกียรติชาย  ไมตรีวงษ์

 

สำหรับตลาดกลางคาร์บอนของประเทศไทยในเวลานี้ผู้ประกอบการตื่นตัวมาก เห็นได้จากเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา อบก.ได้ตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network (เครือข่ายนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประชาคมโลก)

 

ล่าสุดมีผู้เข้าร่วม 271 องค์กร ในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 300 องค์กร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อการปรับตัวเพื่อให้มีต้นทุนต่ำสุด ซึ่งแพลตฟอร์มที่จะเปิดตัวนี้ จะคล้ายกับตลาดหุ้นที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปซื้อหรือขายคาร์บอน ในราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจกันได้

 

  • ส.อ.ท.จี้ผู้ประกอบการรับมือ

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกนำมาใช้ในกติกาการค้าใหม่ของโลก เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ไทยจะมีผลกระทบมาก คือ European Green Deal หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้แล้ว และจะเป็นตัวบีบคั้นภาคผลิตและภาคบริการของไทยต้องปฏิบัติตาม

 

ทั้งนี้ หากประเทศใดไม่ใปฏิบัติ หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างหันใช้ไปเป็นพลังงานสะอาด ในการผลิตสินค้าและบริการ ก็จะถูกปฏิเสธการสั่งซื้อสินค้า หรือต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงมากขึ้น รวมถึง DJSI (ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์) ที่จะเป็นตัวบีบให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องทำตาม ทั้งการใช้พลังงานสะอาด และการมีคาร์บอนเครดิต

 

สุวิทย์  ธรณินทร์พานิช

 

ดังนั้น ไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบตั้งรับ ยกตัวอย่าง มีบริษัทข้ามชาติจากเดนมาร์ก ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทนั้นได้ประกาศต่อสาธารณชนในประเทศเดนมาร์กและตลาดหลักทรัพย์ว่า ภายใน 3-5 ปี จะใช้พลังงานสะอาด 100% ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นฐานผลิต OEM ก็จะได้รับผลกระทบทันทีในวันรุ่งขึ้น

 

“ผลงานวิจัยของบริษัทชั้นนำกว่า 300 บริษัท ที่ประกาศใช้ RE targets (การใช้พลังงานหมุนเวียน) เฉลี่ยตั้งเป้าไว้ในปี ค.ศ. 2030 โดยที่น่ากังวลคือในจำนวนนี้มี 170 กว่าบริษัทที่มีสาขาอยู่ในไทย ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  3820 วันที่ 22 -24 กันยายน 2565