คลอด "ธรรมนูญผังเมือง" บังคับห้ามออกแบบชุ่ย ดูทางน้ำ พื้นที่สีเขียว

14 ก.ย. 2565 | 05:13 น.

ครม.คลอด "ธรรมนูญผังเมือง" รองรับการสร้างเมืองอัจฉริยะ บังคับทุกหน่วยงานการวางผังเมืองต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวให้เพียงพอ กันพื้นที่เกษตร และกำหนดพื้นที่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ตามที่ กระทรวงมหาดไทย เสนอ โดย ครม. มอบหมาย กระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียด แล้วเสนอคณะกรรมการนโยบายการผังเมือง พิจารณา ก่อนดำเนินการต่อไป

 

สำหรับการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง นั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ยกร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 75 (8) บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง เพื่อใช้เป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองปฏิบัติเสนอครม.เห็นชอบ 

 

ขณะที่มาตรา 7 บัญญัติให้ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองที่คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติจัดทำตามมาตรา 75 (8) เมื่อครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามหน้าที่และอำนาจของตน

5 ทำเลร้อน

 

สาระสำคัญของร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง

 

ส่วนที่ 1 : ส่วนนำ ได้แก่ บทบาทและความสำคัญของการผังเมือง ที่มาของธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง และการปฏิบัติตามธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง

 

เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแม่บทในการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นดัชนีชี้วัดเช่นเดียวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก 

 

โดยขาดมาตรการรองรับเพื่อการถ่วงดุลระหว่างภาคส่วนของสังคมที่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศหลายประการ ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม เช่น การใช้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ระบบการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ที่ขาดสมดุล ผลกระทบจากภัยพิบัติสาธารณะ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เมืองกับชนบท 

 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐไว้ในมาตรา 72 (2) ให้จัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อันเป็นที่มาของภารกิจด้านการผังเมือง ซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 

 

เพื่อให้ “การผังเมือง” เป็นกรอบในการวางผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด แล้วให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศในด้านการใช้พื้นที่นั้น ๆ 

 

อีกทั้งได้กำหนดให้ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองต้องดำเนินการบนพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเมือง และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนที่ 2 : นิยามศัพท์ เช่น

 

“การวางผังเมือง” หมายความว่า กระบวนการให้ได้มาซึ่งผังเมือง ประกอบด้วย ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค ผังนโยบายระดับจังหวัด ผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ

 

“เมืองอัจฉริยะ” หมายความว่า เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประซากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัยให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน

 

ส่วนที่ 3 : ธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ซึ่งจำแนกเป็น 3 หมวด ได้แก่

 

หมวด 1 หลักการเชิงนโยบาย ได้แก่ รัฐพึงบรรจุเรื่องการผังเมืองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หน่วยงานของรัฐพึงจัดทำแผนงานและโครงการให้สอดคล้องกับผังเมืองทุกระดับ

 

หมวด 2 หลักการพื้นฐาน ได้แก่ การผังเมืองต้องคำนึงถึงการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมและแสดงข้อคิดเห็น การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน

 

หมวด 3 หลักการเชิงพื้นที่ ได้แก่ การวางผังเมืองต้องคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความสมบูรณ์ การวางผังเมืองและการพัฒนาพื้นที่ ต้องดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์และวิถีชุมชน

 

รถไฟฟ้า- ผังเมืองใหม่ พลิกโฉม“มีนบุรี”เมืองแห่งอนาคต

 

ทั้งนี้ได้กำหนดสาระรายหมวด ประกอบด้วย

 

ข้อ 1 รัฐพึงบรรจุเรื่องการผังเมืองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

ข้อ 2 รัฐพึงบรรจุเรื่องการผังเมืองไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลและแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีผลผูกพันนำไปสู่การปฏิบัติ

 

ข้อ 3 รัฐพึงใช้ผังเมืองเป็นกรอบนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศและดำเนินการหรือสนับสนุนการพัฒนาประเทศแบบบูรณาการในทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามที่ผังเมืองแต่ละระดับกำหนด

 

ข้อ 4 หน่วยงานของรัฐพึงจัดทำแผนงานและโครงการให้สอดคล้องกับผังเมืองทุกระดับ

 

ข้อ 5 หน่วยงานของรัฐพึงสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามผังเมืองที่กำหนด

 

ข้อ 6 รัฐพึงสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านผังเมืองทั้งในและนอกระบบการศึกษาให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคมด้วยหลักสูตรต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ข้อ 7 รัฐพึงสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับการดำเนินการในการจัดทำและปฏิบัติทางผังเมือง

 

ข้อ 8 การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก

 

ข้อ 9 การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึงสาธารณประโยชน์

 

ข้อ 10 การผังเมืองต้องคำนึงถึงการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมและแสดงข้อคิดเห็น

 

ข้อ 11 การวางผังเมืองต้องคำนึง ถึงการป้องกันสาธารณภัย และความสงบเรียบร้อยของประชาชน

 

ข้อ 12 การวางผังเมืองต้องคำนึง ถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน

 

ข้อ 13 การวางผังเมืองต้องคำนึง ถึงการสร้างความเชื่อมโยงในการคมนาคมและการขนส่งให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

 

ข้อ 14 การวางและปฏิบัติตามผังเมืองต้องยึดมั่นในหลักวิชาการทางผังเมือง

 

ข้อ 15 การวางผังเมืองต้องคำนึง ถึงความสำคัญในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

 

ข้อ 16 การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงการวางแผนการตั้งถิ่นฐานให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ลดความเสี่ยง และความเสียหายจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากสาธารณภัย

 

ข้อ 17 การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

 

ข้อ 18 การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงการจัดหาบริการขั้นพื้นฐานและพื้นที่สาธารณะที่เพียงพอและเหมาะสมให้แก่ประชาชน

 

ข้อ 19 การวางผังเมืองต้องคำนึงถึงการจัดให้มีพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอและเหมาะสม

 

ข้อ 20 การวางผังเมืองต้องสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต

 

ข้อ 21 การวางผังเมืองต้องออกแบบวางผังพื้นที่ กลุ่มอาคารสิ่งก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

 

ข้อ 22 การวางผังเมืองต้องกำหนดเขตสงวน เขตอนุรักษ์ เขตพัฒนา ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

 

ข้อ 23 การวางผังเมืองต้องคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความสมบูรณ์

 

ข้อ 24 การวางผังเมืองต้องกำหนดพื้นที่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

ข้อ 25 การวางผังเมืองและการพัฒนาพื้นที่ต้องคุ้มครองและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศที่งดงามหรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติ

 

ข้อ 26 การวางผังเมืองและการพัฒนาพื้นที่ ต้องดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์และวิถีชุมชน