svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

"ศักดิ์สยาม" ออกตัว ตัดสินผู้ชนะ "ประมูลสายสีส้ม" ปัดราคาไม่ใช่ประเด็น

14 กันยายน 2565

"ศักดิ์สยาม" เคลียร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยันไม่ได้ใช้ราคาตัดสินผู้ชนะยื่นข้อเสนอ เผยปมคุณสมบัติ ITD Group เป็นอำนาจบอร์ด ม.36 กระทบประชาชนเสียโอกาสการเดินทาง หวั่นประเทศเสียประโยชน์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หนึ่งในผู้ยื่นข้อเสนอประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ได้เปิดเผยข้อเสนอด้านราคาและพบว่ามีราคาต่ำกว่าผู้ยื่นข้อเสนอประมูลโครงการในครั้งที่ 2 นั้น เรื่องนี้กระทรวงฯ ไม่มีความเห็น เพราะการประมูลโครงการนี้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ดังนั้นเชื่อว่าการประมูลโครงการมีการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนมาอยู่แล้ว

 

 

 

"เรื่องนี้คงต้องไปดูว่าเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) กำหนดอะไรไว้บ้าง ทั้ง 4 ซองข้อเสนอ ด้านคุณสมบัติ ด้านเทคนิค ด้านราคา และข้อเสนอพิเศษ ก็ต้องไปดูผลรวมว่าทั้ง 4 ซองมีความเหมาะสมเป็นไปได้แค่ไหนถ้าเราสนใจแต่เรื่องราคาอย่างเดียว และเกิดผลกระทบกับโครงการก็คงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นหลายโครงการที่ผู้รับเหมาเสนอราคาต่ำและทิ้งงาน ดังนั้นเรื่องราคาคงไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียว ต้องมีเรื่องอื่นๆ มีแผนการทำงานและเทคนิคที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จ"

ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เน้นย้ำให้ รฟม.ดำเนินงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โครงการนี้มีความสำคัญกับประชาชน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ ดังนั้นไม่ควรล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวผมนั้นไม่มีผลประโยชน์ หรือขัดผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น

 

 

 

 ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุถึงคุณสมบัติของบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบใหม่ แต่มีคุณสมบัติของคณะกรรมการที่อาจขัดต่อข้อกำหนดในการประมูลโครงการรัฐนั้น เรื่องนี้ตนยืนยันว่ากระบวนการในโครงการนี้ เป็นการประมูลโดยใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 62 (PPP) และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งกระทรวงฯ จะมีหน้าที่พิจารณาความถูกต้องหลังจากที่คณะกรรมการ ม.36 สรุปผลการประมูลมาแล้ว

"เรามีหน้าที่พิจารณาผลการประมูลโครงการฯ ให้เป็นไปตามผลการศึกษาและหลักกฎหมาย เราไม่สามารถห้ามไม่ให้คนสงสัยหรือตั้งประเด็นคำถามได้ แต่มีหน้าที่อธิบายสิ่งเหล่านี้ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์กับคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่กลับติดปัญหาที่ไม่ได้มีประเด็นอะไร ทำให้เสียเวลาหลายปี ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการเดินทาง อยากให้ดำเนินการถึงประโยชน์ส่วนรวม อย่าดำเนินการโดยอคติตามวิธีคิดของคนที่ไม่เข้าใจ เรามีระเบียบกฎหมาย ที่ต้องดำเนินการตามนั้น"

 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบัน รฟม.ไม่ได้มีการรายงานถึงปัญหาติดขัดในเรื่องขอลการประกวดราคา แต่ทุกครั้งที่มีการหารือร่วมกับผู้บริหาร ทางกระทรวงฯ จะมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน รวมถึง รฟม.จัดทำแอคชั่นแพลนเพื่อดำเนินการกำกับแปลไปสู่นโยบายการปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยขณะนี้การประมูลถือว่าอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการ ม. 36 พิจารณา ซึ่งในคณะกรรมการฯ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายท่าน เช่น องค์กรต่อต้านทุจริต, สำนักงบประมาณ, สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น

 

 

 

"ที่ผ่านมาเราเคยแนะนำ รฟม. ให้ดำเนินการยึดหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งทุกหน่วยงานจะดำเนินการอย่างไรต้องทำความเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ต้องคิดให้ดีและพยายามแก้ไข เพราะประเทศมีจุดได้เปรียบเรื่องโลเคชั่น อย่าทิ้งในสิ่งเหล่านี้"