"วราวุธ" ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ หนุน BCG Model

25 ส.ค. 2565 | 08:27 น.

"วราวุธ" ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 เสนอกลุ่มสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค หนุน BCG Model สร้างความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 หรือ The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry : MMRF5 ที่จัดระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2565 ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี ที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการหารือความร่วมมือด้านเทคนิค กระบวนการ และด้านการเงิน สนับสนุนให้ทุกเขตเศรษฐกิจของเอเปค มีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดการด้านป่าไม้ และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ตามแนวคิดการประชุม APEC 2022 THAILAND คือ “OPEN. CONNECT. BALANCE.”

 

 

นายวราวุธ กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในที่ประชุมมีแนวคิดที่จะนำป่าไม้มาเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาหลักในหลาย ๆ เรื่องของโลก ผ่าน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ทั้งประเด็นเรื่องการค้าไม้อย่างถูกกฎหมาย การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับแนวทางเดียวกับ Cop 26 ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนปี ค.ศ. 2065 นอกจากนี้ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และหาโอกาสที่จะพัฒนาแนวทางการต่อต้านการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ เพราะต้นตอก็มาจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย โดยท่าทีของไทยจะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาและเดินหน้าแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model เพื่อให้เห็นว่าการปลูกป่าเพิ่มขึ้น จะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และในอนาคตก็จะนำไปสู่แนวทางคาร์บอนเครดิตที่นำมาเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจด้วย

"วราวุธ" ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้  หนุน BCG Model

 

"การประชุม MMRF5 ครั้งนี้ เราจะแสดงให้เห็นท่าทีของเรา และขอนำเอาองค์ความรู้จากเพื่อน ๆ ในเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งหวังว่าเราจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะนอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องป่าไม้ ก็จะมีผลดีกับเศรษฐกิจชุมชน ในการใช้ป่ามาเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ และสองยังเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย"

นายวราวุธ ขอบคุณรัฐมนตรีป่าไม้เอเปค และผู้แทนจากทุกเขตเศรษฐกิจพิเศษเอเปค ที่ได้ร่วมมือร่วมใจมาปฏิบัติหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ จนการประชุมประสบผลสำเร็จ และเห็นชอบที่จะร่วมกันส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือ และยกระดับการอนุรักษ์ฟื้นฟู รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้เพิ่มขึ้น

"วราวุธ" ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้  หนุน BCG Model

 

“การประชุม MMRF5 ในครั้งนี้ มีเป้าหมายการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ผมได้กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของสมาชิกเอเปค ในการร่วมกันดำเนินงานจนสามารถบรรลุเกินกว่าเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของภูมิภาคที่กำหนดไว้ คือ เราสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ถึง 174.38 ล้านไร่ หรือ 27.9 ล้านเฮกเตอร์”

 

 

"วราวุธ" ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้  หนุน BCG Model

นายวราวุธ ยังเปิดเผยว่า นอกจากการประชุมแล้ว จะจัดให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ไปเยี่ยมชมสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพราะถือเป็นหนึ่งในพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว่า 6,500 ไร่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยและแนวคิดในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ครั้งนี้

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เวทีประชุมครั้งนี้ จะเรียกร้อง และกระตุ้นให้สมาชิกเอเปคก้าวข้ามความขัดแย้ง ให้มาร่วมมือส่งเสริมการพัฒนา 3 ทางเลือก คือ การดำเนินการตามธุรกิจปกติ, ทางเลือกแบบท้าทาย คือการกำหนดเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ตามข้อตกลงปารีส ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และทางเลือกที่สาม คือทางเลือกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

 

"วราวุธ" ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้  หนุน BCG Model

 สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 หรือ MMRF5 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานการประชุม จะกล่าวถ้อยแถลง ขอให้กลุ่มสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันผลักดัน BCG Model และผลักดันการจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมายและต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมาย รวมถึงการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย