“อุตตม”แนะรัฐแก้หนี้เอสเอ็มอีต้องทำควบคู่เติมทุนใหม่ช่วยผู้ประกอบการ

01 ส.ค. 2565 | 09:14 น.

“อุตตม”ชี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วง จากสถานการณ์ของแพง-ค่าแรงต่ำ หนี้สินพอกพูน ขาดเงินทุนพลิกฟื้นและขยายกิจการ  ชี้แก้หนี้สินต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเติมทุนใหม่ให้ผู้ประกอบการ 

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย อดีตรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อวันที่ 25-26 ก.ค.ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อร่วมรับฟังการเสวนาในหัวข้อ “สร้างอนาคตภาคใต้” จัดโดยสมาคมสื่อมวลชนภาคใต้ 2558 (ส.ม.ต.) ผมขอชื่นชมพลังของทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันคิดหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งจากผู้ประกอบการ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม   


  
จากที่ได้รับฟังผู้เข้าร่วมเสวนา และพูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ก็ได้เห็นสัญญาณทางเศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มฟื้นตัว ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย และสิงคโปร์ 

อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่ได้รับนั้นยังไม่เข้มแข็ง และมีความเปราะบาง เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายกลางและรายเล็ก ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วง คือ   
  
1. สถานการณ์ของแพง - ค่าแรงต่ำ ทำให้เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ด้านรายได้ยังเป็นปัญหา เพราะกำลังซื้อในตลาดยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งผู้ประกอบการกำลังมีความกังวลว่า หากดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้นก็จะเป็นการซ้ำเติมด้านต้นทุนให้เพิ่มขึ้นอีก  
 
 

 
2. ปัญหาหนี้สินที่พอกพูนโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กำลังเป็นปัญหาใหญ่กระทบผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนทั่วไป 
 
3.  ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กจำนวนมาก ขาดเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการพลิกฟื้นและขยายกิจการ  
  
การที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลุดพ้นจากปัญหาทั้งหมด และเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง ภาครัฐต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารของรัฐ บสย.  เพราะการแก้ปัญหาโดยเน้นด้านใดด้านหนึ่ง ไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤติได้ 
 
การแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กนั้น จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของเอสเอ็มอีด้วย เช่น เอสเอ็มอีมีการก่อหนี้ร่วมกันทั้งหนี้ธุรกิจ หนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ 

 

ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องพิจารณานำหนี้ทุกกลุ่ม เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ไปพร้อมกันจึงจะเบ็ดเสร็จ และที่สำคัญยิ่งคือ การแก้ไขหนี้สินต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเติมทุนใหม่ให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สอดรับกับการผ่อนชำระหลังการปรับโครงสร้างหนี้ และสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้อีกครั้งหนึ่ง  

 
  
ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมสมาพันธ์เอสเอสอีไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  เพื่อหารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติและก้าวต่อไปได้มั่นคง ทุกคนเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการเติมทุนใหม่ด้วยขบวนการและรูปแบบที่เหมาะสม นอกเหนือจากช่องทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

 

ผมจึงได้นำเสนอการจัดตั้งกองทุน “สร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย” โดยมีเป้าหมายในการเติมทุนใหม่ให้เอสเอ็มอี เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ประสบความสำเร็จ ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีทุนใหม่เพื่อต่อยอดกิจการ

                                “อุตตม”แนะรัฐแก้หนี้เอสเอ็มอีต้องทำควบคู่เติมทุนใหม่ช่วยผู้ประกอบการ
  
นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างหนี้และเติมทุนแล้ว กองทุน “สร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย” จะดำเนินการพร้อมกับโครงการสร้างเสริมทักษะความรู้ให้ผู้ประกอบการก้าวทันโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล  การเพิ่มทักษะด้านบัญชี การบริหารจัดการ การเพิ่มความเชี่ยวชาญให้บุคลากรในองค์กร เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจที่ได้รับทุนไปนั้นจะสามารถเดินต่อได้ในอนาคต  
 
ทั้งนี้โครงการแก้ไขปัญหาและปรับโครงสร้างหนี้สิน ทั้งส่วนผู้ประกอบการและของภาคประชาชน รวมถึงการจัดตั้งและบริหารกองทุน“สร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย” ผมและเพื่อนๆ พรรคสร้างอนาคตไทย ได้ร่วมกันพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องและพัฒนารูปแบบ รวมทั้งขบวนการการดำเนินงานของกองทุนฯ เพื่อให้สามารถทำได้จริง มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งผมจะขอขยายความในโอกาสต่อไป