ดีเดย์ 8 ส.ค. เปิดยื่นซองประมูล "พื้นที่เชิงพาณิชย์" สนามบินสุวรรณภูมิ

29 ก.ค. 2565 | 09:23 น.

ทอท.เดินหน้าเปิดโอกาสเอกชนยื่นซองประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ 1.76 พันล้านบาท เริ่ม 8 ส.ค.นี้ ปั้นรายได้ที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ เผยคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอใครได้สิทธิ์บ้าง

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระบุว่า ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคหลักในที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ มีราคากลางกำหนดอยู่ที่ราว 1,769 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 8 ส.ค.นี้ 

 

 

สำหรับคุณสมบัติของเอกชนที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ กำหนดเบื้องต้น อาทิ เป็นนิติบุคคลผู้มีอาชีพรับจ้างงานที่ประกวดราคาดังกล่าว ไม่อยู่ระหว่างเลิกกิจการ ไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างถูกระงับการยื่นข้อเสนอหรือทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐไว้ชั่วคราว ไม่เป็นบุคคลซึ่งถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน และเป็นผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนงานก่อสร้าง สาขางานก่อสร้างทางและสะพานพิเศษ ไม่น้อยกว่าชั้นพิเศษ ประเภทหลักเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะไว้กับกรมบัญชีกลาง เป็นต้น
 

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ทอท.จะนำร่องพัฒนาพื้นที่เชงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในแปลงศรีวารีน้อย 723 ไร่ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่การเกษตรที่สามารถพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรได้ และจะต่อยอดกับธุรกิจศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ที่ ทอท.ดำเนินการในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO)

 

โดย ทอท.มองว่าโครงการแรกที่มีศักยภาพสามารถดำเนินการได้ทันที คือการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร เพราะสนับสนุนต่อธุรกิจของ ทอท.อยู่แล้ว ซึ่ง AOTTO จะทำหน้าที่หาดีมานด์ในตลาดโลก และนำดีมานด์เข้ามายังตลาดกลางสินค้าเกษตร ซึ่ง ทอท.จะเข้าไปเตรียมพื้นที่ให้ผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการจะเป็นผู้ลงทุนโรงการค้าเอง เป็นตลาดในลักษณะคล้ายกับตลาดไท เบื้องต้นประเมินวงเงินลงทุนตลาดกลางสินค้าเกษตรระยะแรกอยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท 

 

 

นอกจากนี้ ทอท.ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่แปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้นำไปพัฒนาเลนจักรยานแล้วบางส่วน จะเหลือให้เอกชนลงทุนได้ประมาณ 700 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกกิจการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายให้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือสนับสนุนกับธุรกิจการบิน อาทิ ธุรกิจปั๊มน้ำมัน และคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น 

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า การพิจารณาธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้พื้นที่ด้านการบิน มีข้อจำกัดเรื่องความสูง ดังนั้นธุรกิจที่น่าจะทำได้ต้องไม่ก่อสร้างแนวสูง เบื้องต้น ทอท.ยังพิจารณาธุรกิจที่น่าสนใจอย่างโชว์รูมรถหรู พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นพื้นที่ทดลองขับก่อน โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ารถยนต์ เพราะยังอยู่ในพื้นที่ของท่าอากาศยาน หากทดลองขับแล้วต้องการซื้อ ก็สามารถดำเนินการในขั้นตอนจ่ายภาษีที่สนามบิน และนำรถยนต์ออกไปได้ตามกฎหมาย

 

 

สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ทอท.ตั้งเป้าว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้ขององค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่พึ่งพาเฉพาะรายได้จากธุรกิจการบินที่มีปัจจัยแวดล้อมกระทบอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางลดลง และรายได้ด้านการบินก็ลดลง แต่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะเป็นรายได้จากธุรกิจนอกเหนือการบิน หรือ Non - Aero ซึ่งภายหลังเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนแล้ว เชื่อว่ารายได้ของ ทอท.จะปรับจากปัจจุบันมีรายได้ Non – Aero อยู่ที่ 43% และมีรายได้จาก Aero 57% เป็น Non – Aero 50% และ Aero 50%