ครม. ไฟเขียว กฟผ. เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นเป็น 30,000 ล้านบาทเสริมสภาพคล่อง

26 ก.ค. 2565 | 10:50 น.

มติครม. อนุมัติให้ กฟผ. เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านเป็น 30,000 ล้าน เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยคลังจะไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้

26 กรกฎาคม 2565 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line จากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 11 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันที่วงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 จะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขเดิม ประกอบด้วย กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (R/T) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan)

 

โดยจะพิจารณาทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินที่เสนอรูปแบบที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ตามอัตราดอกเบี้ยตลาด โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินดังกล่าว

ทั้งนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่า Ft (เอฟที) ตามนโยบายของรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว กฟผ. คาดว่าจะได้รับเงินกู้ในช่วงปลายเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งไม่ทันต่อการรองรับการขาดสภาพคล่องในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2565

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีวงเงินกู้ระยะสั้นแบบ Credit Line เพิ่มขึ้น ตามคาดการณ์ในเดือน ส.ค. 2565 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาทดังกล่าว เนื่องจาก กฟผ. ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานสูงมาก ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อกระแสไฟฟ้า งบลงทุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในส่วนของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อกระแสไฟฟ้าในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2565 สูงกว่าประมาณการจำนวน 23,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าประมาณการที่คาดการณ์ไว้