“เจ้าท่า” กางแผนเสริมทราย ฟื้นฟูหาดจอมเทียน 986 ล้าน

26 ก.ค. 2565 | 06:34 น.

‘กรมเจ้าท่า’ เดินหน้าเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี วงเงิน 986 ล้านบาท เล็งส่งมอบพื้นที่เฟสแรก ภายในเดือนพ.ย.65 สานต่อเฟส2 เสร็จปี 68 มั่นใจกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทย

 นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีด้านปฏิบัติการ กรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี วงเงินรวม 986 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 586 ล้านบาท  ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ความกว้าง 50 เมตร ตั้งแต่ด้านทิศใต้ของหาดจอมเทียนไปทางทิศเหนือบริเวณบริเวณซอยนาจอมเทียน 11  เบื้องต้นกรมฯได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ชายหาดให้กับเทศบาลตำบลนาจอมเทียนระยะทาง 800 เมตร ในช่วงเดือนก.ค. 2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย.2565

 


    
ส่วนโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ระยะที่ 2  งบประมาณปี 2566 – 2568 วงเงิน 400 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ความกว้าง 50 เมตร จากด้านทิศใต้บริเวณซอยนาจอมเทียน 11 (ต่อจากระยะที่ 1) ไปทางทิศเหนือบริเวณแนวโขดหิน หน้าสวนน้ำพัทยาปาร์ควอเตอร์เวิร์ล คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2568  

 

“เจ้าท่า” กางแผนเสริมทราย ฟื้นฟูหาดจอมเทียน 986 ล้าน

 “โครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นโครงการเร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่ชายหาดจอมเทียนประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2510-2558 พื้นที่ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี หรือประมาณ 60 ไร่ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน หากปล่อยทิ้งไว้จะไม่เหลือพื้นที่ชายหาดอีกต่อไป”
 

 ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน ตลอดแนวชายหาดจอมเทียน ความยาว 7 กิโลเมตร จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เงิน 1 บาทที่ลงทุน สามารถสร้างผลตอบแทนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 3.2 บาท และยังสร้างผลตอบแทนทางอ้อมซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้

 

“เจ้าท่า” กางแผนเสริมทราย ฟื้นฟูหาดจอมเทียน 986 ล้าน
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมายังได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการฯ จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งที่หนึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2558 เพื่อเสนอแนะความเป็นมาและความจำเป็นของโครงการฯ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการฯ และในครั้งที่สองจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2558 เพื่อนำเสนอรูปแบบการเสริมทรายฯ และขอบเขตการศึกษาโครงการฯ ซึ่งมีผู้เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของโครงการฯ ร้อยละ 96.8 และครั้งที่ 3 ช่วงเดือนกันยายน 2559 นำเสนอข้อมูลผลการศึกษาของโครงการฯ ซึ่งร้อยละ 84.2 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม ให้ความเห็นว่ามาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้นำเสนอในรายงานมีความเพียงพอสำหรับการลดผลกทระทบที่จะเกิดขึ้นกับการก่อสร้างโครงการฯ
 

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย โดยครั้งแรกจัดขึ้นในดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่าจะช่วยทำให้ชายหาดจอมเทียนกลับมามีสภาพที่สวยงาม และมีพื้นที่สาธารณะให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรม และในครั้งที่สองจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2558 โดยร้อยละ 100 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาของโครงการฯ     

“เจ้าท่า” กางแผนเสริมทราย ฟื้นฟูหาดจอมเทียน 986 ล้าน

อย่างไรก็ตามหากโครงการฯ ดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้หาดจอมเทียนให้กลับมามีสภาพที่สวยงาม ฟื้นฟูและบำรุงรักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเลให้กับมามีสภาพสมบูรณ์  ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน จ.ชลบุรี และยังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี