"โรงงานน้ำตาล" แสดงจุดยืนไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯที่ไม่เป็นธรรม

21 ก.ค. 2565 | 07:11 น.

"โรงงานน้ำตาล" แสดงจุดยืนไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่ไม่เป็นธรรม ยืนกรานค้านเพิ่มกากอ้อยในคำนิยามผลพลอยได้

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฏิเสธไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอุตสาหกรรม ไม่ได้รับสิทธิ์แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งขัดต่อหลักเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้
    

สำหรับกากอ้อยนั้น ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2525 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อย 70% และโรงงาน 30% 

อีกทั้งกากอ้อยถูกจัดให้เป็นขยะอุตสาหกรรมจากการกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยฝ่ายโรงงานลงทุนฝ่ายเดียวทั้งหมด เพื่อจัดการของเสียดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า 

 

โรงงานน้ำตาลแสดงจุดยืนไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่ไม่เป็นธรรม

 

ดังนั้น การเพิ่มกากอ้อยในร่าง พรบ. ดังกล่าว จึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิ์ปกป้องสิทธิของตน จึงทำให้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

 

นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า พยายามเรียกร้องมาตลอดว่าต้องการกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้รับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ประกอบการในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ทั้งที่การบริหารอุตสาหกรรมภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายต้องอาศัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชาวไร่ และฝ่ายโรงงาน 

เพื่อให้การบริหารอุตสาหกรรมเกิดเสถียรภาพและเกิดความร่วมมือบริหารอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อไป แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับนี้ กลับดึงคนนอกเข้ามาร่างกติกาที่พยายามทำลายข้อตกลงและธรรมนูญของกฎหมายเดิม และจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่า พร้อมจะดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยกว่า 300,000 ครอบครัว ในการส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และดูแลผู้บริโภคในประเทศให้มีน้ำตาลทรายอย่างเพียงพอ 

 

โดยพร้อมจะบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในเวทีโลก โดยไม่ขัดต่อหลักการของ WTO เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย