ค่าไฟขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยจริงหรือไม่ กกพ. เปิด 3 แนวทางรับฟังความเห็น ปชช.

15 ก.ค. 2565 | 04:22 น.

ค่าไฟขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยจริงหรือไม่ กกพ. เปิด 3 แนวทางรับฟังความเห็นประชาชน หลัง กฟผ.ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกือบแสนล้านบาท


ใกล้เข้ามาทุกขณะกับการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. โดยก่อนหน้านี้แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนและปรับเพิ่มค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 โดยมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 90-100  สตางค์ต่อหน่วย 

 

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดังกล่าวอาจทำให้ค่าไฟฟ้าอาจต้องปรับเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ทีประมาณ 4 บาทต่อหน่วย โดยจะประกาศค่าเอฟทีอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทยยังมีแนวโน้มราคาสูงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.65 จนถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี กกพ.ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความเห็น แนวทางการพิจารณาค่าเอฟทีงวดใหม่เดือนก.ย.-ธ.ค.65 ผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จากปกติจะรอให้ทางคณะกรรมการ กกพ.พิจารณาประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่ก่อน
 

เนื่องจาก กกพ.เห็นว่า สถานการณ์ราคาพลังงานโลก ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาค่าเอฟทีมีความผันผวน จึงได้จัดทำกรณีศึกษา 3 แนวทาง เพื่อรับฟังความเห็น และนำข้อสรุปให้บอร์ด กกพ.พิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นด้วย คาดว่าจะประกาศค่าเอฟทีงวดใหม่ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ถึงต้นเดือนหน้า

 

สำหรับ 3 กรณี ได้แก่ 

 

กกพ.เปิด 3 แนวทางรับฟังความเห็นค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค.

 

  • เรียกเก็บค่าเอฟทีงวดใหม่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการเพิ่มขึ้นตามการประมาณการต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (เอฟเอซี) เดือนก.ย.-ธ.ค.65 ที่เกิดขึ้นจริง

 

  • เรียกเก็บค่าเอฟทีงวดใหม่ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นตามเอฟเอซี เดือนก.ย.-ธ.ค.65 บวกกับยอดต้นทุนค่าไฟสะสมงวดที่ผ่านมา (เอเอฟ) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระ 83,010 ล้านบาท มาเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ภายใน 1 ปี เพื่อคืนกฟผ. ทยอยปรับ 3 งวด (นับจากงวดใหม่นี้เป็นต้นไป) งวดละ 45.70 สตางค์ต่อหน่วย
  •  เรียกเก็บค่าเอฟทีงวดใหม่ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นตามเอฟเอซี บวกกับเงินเอเอฟ จำนวน 83,010 ล้านบาท มาเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายใน 2 ปีเพื่อคืน กฟผ. ทยอยปรับ 6 งวด (นับจากงวดใหม่นี้เป็นต้นไป) งวดละ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย

 

ซึ่งการพิจารณาต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบค่าใช้จ่ายของประชาชน และความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในระยะยาวมาประกอบด้วย เพราะปัจจุบันนี้ กฟผ.ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกือบแสนล้านบาทแล้ว