โควิดคลี่คลาย-เปิดประเทศดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ขยายตัว 7.46%

29 มิ.ย. 2565 | 08:47 น.

โควิดคลี่คลาย-เปิดประเทศดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ขยายตัว 7.46% หลังการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.46% โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศคลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว 

 

ทั้งนี้ สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 19.97% ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 5 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 64.11 โดยจำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีนที่ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นผลกระทบระยะสั้น ภาคการผลิตขยายตัวอีกครั้งหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา 

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงที่ 2.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage

 

โดยเฉพาะการขาดแคลน   เซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ โดยจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในเดือนหน้าหลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญ 

 

ในขณะที่การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว

 

สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก 

 

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ขยายตัว 7.46%

 

ด้านสถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนมีผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะเดียวกันภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมขยายตัวที่ 11.8% เร่งตัวขึ้นจากเดือนเมษายนขยายตัวที่ 11.4%
 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังส่งสัญญาณบวกต่อเนื่อง โดย สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า 

 

อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว ความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 

 

ด้านปัจจัยต่างประเทศยังคงส่งสัญญาณปกติจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้ แต่ต้องจับตาดูสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเพิ่มสูง และสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

 

อุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนพฤษภาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

 

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.06% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล  น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นหลัก หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรค   โควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งทางบกและทางอากาศ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการเดินทางในประเทศและต่างประเทศ

 

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.29% จากผลิตภัณฑ์ Integrated Circuit และ PWB เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัวต่อเนื่อง

 

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.73% จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ดและยาน้ำ เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวในปีก่อน และในปีนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้น

 

ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.24% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง เป็นหลัก เนื่องจากมีความต้องการสูงในตลาดโลก ประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยุโรป อเมริกา และสิงคโปร์ มีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการขนส่งเริ่มคลี่คลาย

 

เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.93% จากผลิตภัณฑ์จี้ สร้อย และกำไล เป็นหลัก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ส่งผลให้ในตลาดส่งออกสำคัญกลับมามีคำสั่งซื้อสินค้าอีกครั้ง