PDPA ป่วน เอกชนแบกต้นทุนเพิ่ม 5 หมื่นล้าน โอดไม่พร้อมขอเว้นโทษอาญา 2 ปี

15 มิ.ย. 2565 | 09:00 น.

เอกชนตั้งรับกฎหมาย PDPA โอดแบกอ่วมเพิ่มต้นทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท กว่า 8 แสนบริษัทผวา เป็นช่องทางผู้ไม่ประสงค์ดีหาผลประโยชน์ ระบุโทษอาญา-โทษทางปกครองแรงเกินให้ปรับแก้ หอการค้า-สภาอุตฯ-สภาองค์การนายจ้างฯ ประสานเสียงขอเลื่อนบังคับใช้บทลงโทษ-กฎหมาย

 

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (Personal Data Protection Act : PDPA) กฎหมายใหม่ป้ายแดงมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ข้อดีคือข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมตั้งแต่ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ ไลน์ เฟซบุ๊ก ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท การศึกษา สถานะส่วนตัวและครอบครัว ข้อมูลด้านสุขภาพ ความเชื่อ ศาสนา และอื่น ๆ ที่นำไปกรอกในเอกสารต่าง ๆ จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนคนทั่วไปรวมถึงลูกจ้างในสถานประกอบการว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างปลอดภัย เป็นธรรม โปร่งใส ไม่นำไปใช้งานในทางมิชอบ หรือเอาไปขาย

 

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งกฎหมายนี้กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญในทางปฏิบัติ จากความไม่พร้อมของภาครัฐ เอกชน รวมถึงกฎหมายลำดับรอง (กฎหมายลูก) ที่ลงในรายละเอียดในทางปฏิบัติต่าง ๆ ของกฎหมายอีกนับสิบฉบับยังไม่พร้อม และกำลังทยอยออกมาประกาศใช้ และแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้จะสามารถตั้งอย่างเป็นทางการได้ประมาณเดือนกันยายน 2565

 

PDPA ป่วน เอกชนแบกต้นทุนเพิ่ม 5 หมื่นล้าน โอดไม่พร้อมขอเว้นโทษอาญา 2 ปี

 

แบกต้นทุนเพิ่ม 5 หมื่นล้าน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินสถานประกอบการภาคการผลิต การค้าและบริการต่าง ๆ ที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์มากกว่า 8 แสนแห่งทั่วประเทศ จะต้องใช้เงินลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบภายในเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายนี้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทีมงานอบรมพนักงาน การปรับระบบคอมพิวเตอร์ในการเชื่อมโยงข้อมูลของลูกค้า พร้อมการแจ้งลูกค้าเกี่ยวกับการปรับใช้ข้อมูลตามกฎหมายฉบับใหม่ เป็นต้น

 

ทั้งนี้จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ ที่ต้องมีภาระต้นทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตามบริษัทใหญ่ที่มีเงินทุนได้เตรียมความพร้อมรองรับการปรับระบบบ้างแล้ว แต่สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวนมากที่ไม่มีเงินทุนในการปรับระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายจะได้รับผลกระทบมาก

 

 

30% ยังไม่ขยับรับกฎหมายใหม่

ขณะที่ในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จากการสอบถามความเห็น 3,988 บริษัททั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคบริการ 42.3% และภาคอุตสาหกรรม และการค้า 57.7% ในจำนวนนนี้ระบุว่าได้ดำเนินการเสร็จแล้วเพียง 8% ดำเนินการเกือบเสร็จสมบูรณ์ 22% อยู่ระหว่างดำเนินการ 39% และยังไม่เริ่มดำเนินการ 31%

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

“ยุคแห่งความวุ่นวายและสับสนของ PDPA จะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเป็นกฎหมายใหม่ กลายเป็นต้นทุนและองค์ความรู้ใหม่ที่ภาคธุรกิจทั้งหลายต้องรับมือ เช่น จะเกิดความเข้าใจผิด เข้าใจว่า PDPA เป็นเรื่องของลูกค้า จริง ๆ แล้วครอบคลุมข้อมูลส่วนบุคคลของทุก ๆ คนที่องค์กรเก็บ เรื่องที่ 2 คิดว่า PDPA เป็นเรื่องของไอที ซึ่งความจริง PDPA ครอบคลุมทั้งเอกสาร สัญญา กระบวนการทำงาน ไอที และไอซีที สุดท้าย คิดว่า PDPA มอบให้ใครก็ได้ในองค์กรไปทำ แต่จริง ๆ แล้วผู้บริหาร กรรมการ และเจ้าของคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายซึ่งมีโทษทั้งจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งสามเรื่องนี้ กำลังสร้างปัญหาระยะยาวแก่ภาคธุรกิจ”

 

ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐ ได้ทบทวนการบังคับใช้กฎหมาย โดยพิจารณาออกบทเฉพาะกาลในการยกเว้นการบังคับใช้บทลงโทษออกไป และอยากให้มีกฎหมายลูกที่ชัดเจน

 

สภาอุตฯขอเว้นโทษอาญา 2 ปี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับโทษทางอาญา และโทษทางปกครองจากกฎหมายนี้ที่มีความรุนแรง (จำคุกสูงสุด 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการปรับระบบต่าง ๆ รวมกันมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาครัฐก็ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องกฎหมายลูกต่าง ๆ แต่ก็ประกาศบังคับใช้กฎหมายแล้ว การประชาสัมพันธ์ก็ยังไม่ทั่วถึง และคนยังขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมายอย่างถ่องแท้ซึ่งมีจำนวนมาก

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“ในเมื่อกฎหมายประกาศบังคับใช้แล้ว แต่ยังขาดความชัดเจนในรายละเอียดต่างๆ สุ่มเสี่ยงผู้ประกอบการทำผิด เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้บทลงโทษทางอาญาออกไปอีก 2 ปี

 

จับตาเป็นช่องทางหาประโยชน์

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทมหาชนมีความตื่นตัวในการปรับระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับกับ PDPA โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือผู้ให้บริการ ซึ่งต้องลงทุนอย่างน้อย 3-4 แสนบาท แต่สำหรับเอสเอ็มอีแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความลึกซึ้งและซับซ้อนตั้งแต่เรื่องการบันทึกข้อมูลที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องทั้งประชาชน ผู้บริโภค ลูกค้า คนที่ทำงานอยู่ในบริษัท และบริษัทลูกค้าที่มีคนเกี่ยวข้องในซัพพลายเชนเป็นจำนวนมาก

 

“ข้อมูลส่วนบุคคล มีทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ ไอจี เฟซบุ๊ก การศึกษา ครอบครัว สุขภาพและอื่น ๆ อย่างคุณกับผมคุยกัน คำถามคือคุณได้เบอร์ผมจากไหน คุณขออนุญาตผมหรือยัง อะไรอย่างนี้จะเป็นประเด็นในอนาคต และจากความพร้อมของภาคธุรกิจก็ต่างกัน ที่เรากังวลมากที่สุดคือโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง ปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 5 ล้านบาท ถ้าเทียบเคียงกับกฎหมายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายโทษทางแพ่งเพียง 1 หมื่นถึง 1 แสนบาท”

 

ธนิต  โสรัตน์

 

ขอเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย 2 ปี

ขณะเดียวกันโทษทางปกครองกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป เพียงแค่ได้รับเบาะแสก็สามารถเรียกให้เข้าไปชี้แจงหรือเข้าไปตรวจค้นในสถานประกอบการได้ หากไม่อำนวยความสะดวกมีโทษปรับถึง 5 แสนบาท และให้อำนาจอยู่ในดุลพินิจว่า จะปรับหรือไม่ปรับ ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือในการรีดไถ หรือทำมาหากินของผู้ไม่ประสงค์ดี เพราะสถานประกอบการมีหลายแสนแห่งที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายนี้ และจากลูกจ้างในระบบแรงงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคม 23-24 ล้านคน ในอนาคตอาจเห็นลูกจ้างหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องใช้ช่องว่างของกฎหมายแบล็คเมล์ ทำให้มีคดีเต็มศาล

 

“ดังนั้นอยากเสนอรัฐบาลในหลายเรื่อง เช่น แก้ไขบทลงโทษทางแพ่ง โดยลดค่าปรับในกฎหมายฉบับนี้ให้มีความเหมาะสม การลดอำนาจเจ้าหน้าที่ไม่ให้มากเกินไปจนเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ การผ่อนปรนบทลงโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองโดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น 1-2 ปี รวมทั้งจากที่ยังไม่มีความพร้อมของหลายภาคส่วน เศรษฐกิ จและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังอ่อนแอ ควรแก้ไขมติ ครม.และออกบทเฉพาะกาลเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ออกไป 2 ปี” นายธนิต กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3792 วันที่ 16 -18 มิถุนายน 2565