คนไทยอ่วมหนัก ค่าไฟฟ้ารอบใหม่จ่อขยับ ทัพสินค้าแห่ขึ้นราคาไม่หยุด

08 มิ.ย. 2565 | 06:07 น.

เอกชนจับตาราคาน้ำมันโลกพุ่งปรี๊ดระลอกใหม่ ดีเซลจ่อทะลุ 35 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเอาไม่อยู่คาดอุ้มเกินแสนล้าน ค่าไฟฟ้ารอบใหม่เตรียมขยับอีก 40 สตางค์ ภาคผลิต วอนรัฐตรึงลดภาษีดีเซล 5 บาทยาว 6 เดือน ด้านสินค้าอั้นไม่ไหวแข่งปรับราคา

 

ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นระลอกใหม่ หลังสหภาพยุโรป (อียู) มีมติระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 90% ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อตอบโต้รัสเซียที่บุกยูเครน ทำให้ซัพพลายน้ำมันของรัสเซียที่ส่งไปอียูจะหายไป ส่วนจีนอีกผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลกได้ทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้น้ำมันกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่าตลาดยังไม่มั่นใจว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตอีก 6.48 แสนบาร์เรลต่อวัน ได้ตามเป้าหมายหรือไม่

 

ล่าสุด (7 มิ.ย.65) ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ยังอยู่ระดับสูงเฉลี่ยที่ 115-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในไทยยังอยู่ระดับสูง โดยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 33.94 บาทต่อลิตร (หากรัฐไม่อุดหนุนราคาจริงจะอยู่ที่ 42 บาทต่อลิตร) จากกรอบที่รัฐบาลประกาศจะตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังพุ่งไม่หยุดจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง จะปรับเพิ่มขึ้นอีก และจะมีผลต่อราคาสินค้าทั้งที่จำหน่ายในประเทศ และส่งออกจะปรับเพิ่มอีก รวมถึงจะกระทบต่อผู้บริโภค ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้น

 

คนไทยอ่วมหนัก ค่าไฟฟ้ารอบใหม่จ่อขยับ ทัพสินค้าแห่ขึ้นราคาไม่หยุด

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากราคาน้ำมัน และพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกมาคาดการณ์แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่จะประกาศช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ จะปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย (จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย) จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและซ้ำเติมปัญหาให้ผู้ประกอบการที่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น จากเวลานี้ไฟฟ้าและพลังงานเป็นต้นทุนโดยเฉลี่ย 10-20% ของทุกอุตสาหกรรมการผลิต

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

 “การผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลงราว 64% เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอื่นอย่างน้ำมัน และถ่านหินรวมกันกว่า 20% ที่เหลือเป็นพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทั้งนี้หากไทยผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซ LNG อย่างเดียวค่าไฟจะมีราคาสูงถึง 6-7 บาทต่อหน่วย แต่ค่าไฟที่ 4 บาทต่อหน่วยในขณะนี้มาจากการใช้เชื้อเพลิงหลายอย่างรวมกัน เช่น ถ่านหิน พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ ลม ชีวภาพ เป็นต้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ ค่าไฟจะถูกลง”

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบใหม่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า และเงินเฟ้อปรับขึ้นอีกแน่นอน ทั้งนี้สัญญาณจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ณ เวลานี้ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และอาจรุนแรงขึ้นจากอียูเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียโดยมีมติระงับการนำเข้าน้ำมัน พร้อมกันนี้ยังมีการส่งอาวุธสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง

 

อีกด้านหนึ่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน และปาเลส ไตล์ รวมถึงความขัดแย้งในตะวัน ออกกลางมีโอกาสปะทุขึ้นเป็นสงคราม อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 120-130 ดอลลาร์ หรือ 140-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จะยิ่งส่งผลกระทบต่อวิกฤติขาดแคลนอาหาร ราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อของโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในอนาคตได้

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“รัฐบาลได้อุดหนุนราคาดีเซล ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเวลานี้ติดลบมากกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท และมีโอกาสถึงแสนล้านบาท หากราคาน้ำมันยังอยู่ช่วงขาขึ้น อย่างไรก็ดีขอให้ภาครัฐช่วยตรึงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจาก 2 เดือนเป็น 6 เดือน เพราะเทรนด์ราคาน้ำมันยังขึ้นอยู่ โดยขอให้ไปพิจารณาว่าจะหาเงินกู้มาชดเชยราคาเพิ่มเติมได้อย่างไร เพราะหากไม่ช่วยก็จะกระทบกันไปหมด ทั้งต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า เงินเฟ้อ และอื่น ๆ”

 

ผู้สื่อข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าส่งย่านมีนบุรี พบว่านับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. มีสินค้าหลายรายการปรับราคาขึ้นไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร, เครื่องดื่มชูกำลัง, นมกล่องยูเอชที, กาแฟ 3 อิน 1, ครีมอาบน้ำ, น้ำยาปรับผ้านุ่ม ฯลฯ จากก่อนหน้านี้มีหลายรายการปรับราคาไปแล้ว

 

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า เชื่อว่ายังมีสินค้าที่จะปรับราคาขึ้นอีก ล่าสุดได้รับการแจ้งจากผู้ผลิตคือ ซอสปรุงรสภูเขาทอง ขอขึ้นราคา 5 บาทต่อขวด หรือคิดเป็นกว่า 10% จากราคาเดิม นอกจากนี้มีซอสแม็กกี้ น้ำจิ้มสุกี้พันท้ายนรสิงห์ ที่แจ้งจะปรับราคาขึ้นในวันที่ 1 ก .ค.นี้ ยังไม่นับรวมสินค้าอื่น ๆ อีกหลายรายการ ขณะที่บางรายใช้วิธีปรับลดโปรโมชั่น ร้านค้า จากเดิมที่มีของแถมก็ลดไม่แจกของแถมหรือลดปริมาณของ แถมลง เช่นเดิมซื้อเครื่องดื่ม 100 ลังแถมฟรี 20 ลัง ล่าสุดสั่งซื้อเครื่องดื่ม 100 ลัง แถมฟรีแค่ 10 ลัง เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดีวันนี้จะเห็นว่า สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตจะมีราคาถูกกว่าร้านโชห่วยทั่วไป เพราะในซูเปอร์ฯ มีการสต๊อกสินค้าไว้มาก รวมทั้งมีการออเดอร์ และบริหารจัดการทำให้สามารถจำหน่ายในราคาเดิมได้อยู่ แต่มีข้อดีข้อเสียต่างกันคือ ร้านโชห่วยจะขึ้นเร็ว ลงเร็ว ขณะที่ซูเปอร์ฯ จะขึ้นช้าแต่ก็ลงช้าเช่นกัน

 

“รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ได้ เช่น กรณีน้ำมันปาล์มรัฐต้องรู้ว่าปีนี้มีปริมาณผลผลิตเท่าไร แบ่งเป็นการบริโภคในประเทศเท่าไร ส่งออกเท่าไร เพื่อควบคุมให้เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ราคาไม่สูงเกินไป หากคำนึงถึงแต่การส่งออกทำให้ราคาปาล์มดี แต่ประชาชนต้องบริโภคน้ำมันในราคาที่สูง ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” นายสมชาย กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3790 วันที่ 9 -11 มิถุนายน 2565