กลุ่ม "ปตท." นำร่อง CCS Hub Model ต้นแบบเทคโนโลยีมุ่งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน

02 มิ.ย. 2565 | 02:39 น.

กลุ่ม "ปตท." นำร่อง CCS Hub Model ต้นแบบเทคโนโลยีมุ่งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยจำเป็นต้องอาศัยการผลักดันและมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน 

 

ประกอบกับเจตนารมณ์ของประเทศไทยด้านเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 

 

กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของประเทศ ผ่านความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีภายใต้คณะกรรมการเทคโนโลยีกลุ่ม ปตท. (PTT Group Technology Committee: GTC) ในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันในกลุ่ม ปตท. 

โดยจะนำร่องศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในรูปแบบ CCS Hub Model ซึ่ง CCS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปี 

 

และนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร  (Permanent Geological Storage) โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี ความร่วมมือนี้นับเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคตเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป
         

นางสาวคณิตา ศาศวัตายุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานวิศวกรรมศาสตร์และการพัฒนา บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. เล็งเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจพลังงานมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์จากธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียม มาต่อยอดในการพัฒนา CCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศนำมาใช้และได้ผลที่ดี 

โดย ปตท.สผ. ได้เริ่มศึกษาเทคโนโลยี CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทยเมื่อปี 2564 เรียกได้ว่า เป็นการริเริ่มดำเนินโครงการ CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยขณะนี้ ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) 

 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังร่วมมือกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศทำการศึกษา CCS ในพื้นที่อื่น ๆ  เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งไปกักเก็บในชั้นหินทางธรณีวิทยาที่เตรียมไว้ได้อย่างปลอดภัย

 

กลุ่ม "ปตท." นำร่อง CCS Hub Model ต้นแบบเทคโนโลยีมุ่งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน

 

รวมทั้ง CCS Hub Model อันเป็นความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ครั้งนี้  ซึ่ง ปตท.สผ. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักจะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่ม ปตท. เพื่อสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นางวราวรรณ ทิพพาวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา GC Group ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท. ได้ให้คำมั่นตาม Paris Agreement และร่วมเป็นหนึ่งในผู้แก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายและแผนงานรวมถึงงบประมาณที่ชัดเจน 

 

โดย GC ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะดำเนินการผ่าน 3 แนวทาง คือ 1. Efficiency-driven การมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกกระบวนการ 2. Portfolio-driven การปรับโครงสร้าง ก้าวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

 

และ 3. Compensation-driven การชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกป่า รวมถึงได้เข้าร่วมศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในรูปแบบ CCS Hub Model ทั้งนี้ GC พร้อมมุ่งมั่นผลักดันการดำเนินงานโครงการ CCS ให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ของกลุ่ม ปตท. และของประเทศต่อไป
          

 

นายจีราวัฒน์ พัฒนสมสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-ด้านธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจนวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน ไทยออยล์มุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนด้วยการต่อยอดศักยภาพทางธุรกิจ ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการความยั่งยืน  เพื่อให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตร่วมกัน เพื่อบรรลุตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ของกลุ่มไทยออยล์ ภายในปี ค.ศ 2060 

 

เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ Net Zero Pathway ที่รวมถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานไฮโดรเจนสะอาด ที่เรียกว่า Blue Hydrogen 

 

โดยคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะมีบทบาทที่สำคัญมากในอนาคต ซึ่งผลการศึกษานี้จะช่วยทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนและภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศชาติ ให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้

 

นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า IRPC ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของบริษัท สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว โดยเชื่อว่าธุรกิจสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยยึดมั่นตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติและความรับผิดชอบต่อสังคม 

 

ซึ่งได้เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์มุ่งสู่องค์กร Net Zero Emission ด้วยการกำหนดแนวทางและการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ได้แก่ การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการสร้างสวนโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในบ่อน้ำดิบสำรองของบริษัทฯ บนพื้นที่รวมกว่า 200 ไร่ กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ ใช้สำหรับกระบวนการผลิตในโรงงาน ถือเป็นการบูรณาการคุณค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่เสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน 

 

และในเชิงสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากพลังงานทดแทน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 9,459 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้บนเกาะเสม็ดทั้งเกาะประมาณ 10,000 ไร่ รวมถึงการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล ตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 

 

และตอบสนองนโยบายของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว (Eco Factory) คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ต้นปี 2567 และการแสวงหาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ 

 

ทั้งนี้ IRPC เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำร่องศึกษา  CCS Hub Model ต้นแบบเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นก้าวเเรกที่กลุ่ม ปตท. ขับเคลื่อนโครงการไปด้วยกัน เพื่อประเทศและโลกของเรา
       

 

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ชินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ GPSC ที่จะร่วมศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ระดับวงกว้าง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission อย่างเป็นรูปธรรม