"PDPA" คืออะไร มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ คุ้มครองอะไรบ้าง เช็คเลย

30 พ.ค. 2565 | 06:47 น.

"PDPA" คืออะไร มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ คุ้มครองอะไรบ้าง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ โทษในการไม่ปฏิบัติตามเป็นอย่างไร หลังใกล้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย

PDPA คืออะไร เป็นคำถามที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากบนโลกออนไลน์  หลังจากใกล้จะมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้

 

"ฐานเศรษฐกิจ" ดำเนินการสืบค้นข้อมูล เพื่อไขคำตอบ พบว่า

 

"PDPA" ย่อมาจาก Personal Data Protection Act เป็น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็น กฏหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การควบคุมไม่ให้องค์กรนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม ด้วยความที่ในปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น 

 

ยกตัวอย่าง เช่น การครอบครองเบอร์โทรศัพท์โดยการซื้อฐานข้อมูลมาจากที่อื่นและโทรไปหาโดยที่ไม่มีการรับรู้จากเจ้าของเบอร์โทรศัพท์นั้น หรือการที่เราได้รับโฆษณาบน Social Media จากข้อมูลการใช้งานของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือไม่ได้ยินยอมให้องค์กรเก็บข้อมูล เป็นต้น

 

ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยข้อบังคับกฎหมาย PDPA จะให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติการทำงาน และข้อมูลส่วนบุคคลประเภทอื่น ๆ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ บันทึกเสียง เลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม

ทั้งนี้  "PDPA" จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จากเดิมที่ครั้งแรก PDPA เคยมีการประกาศบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ค. 2563 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีประกาศเลื่อนบังคับใช้ออกไปอีก 1 ปี เพราะฉะนั้นจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน ดังกล่าว 

 

ข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้การคุ้มครองของ PDPA ประกอบด้วย 
 

 

ส่วนบุคคลทั่วไป

 

 

  • ชื่อ-นามสกุล
  • เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน
  • เลขบัตรประชาชน
  • เลขหนังสือเดินทาง
  • เลขใบอนุญาตขับขี่
  • ข้อมูลทางการศึกษา
  • ข้อมูลทางการเงิน
  • ข้อมูลทางการแพทย์
  • ทะเบียนรถยนต์
  • โฉนดที่ดิน
  • ทะเบียนบ้าน
  • วันเดือนปีเกิด
  • สัญชาติ
  • น้ำหนักส่วนสูง
  • ข้อมูลบนอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username /password,  Cookies IP address,  GPS Location

 

"PDPA" คืออะไร มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ คุ้มครองอะไรบ้าง

 

นอกจากนี้ยังต้องระวังการใช้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล

ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ได้แก่ 

 

 

  • เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์
  • ความคิดเห็นทางการเมือง
  • ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา
  • พฤติกรรมทางเพศ
  • ประวัติอาชญากรรม
  • ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์
  • ข้อมูลสหภาพแรงงาน
  • ข้อมูลพันธุกรรม
  • ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา

 

ใครเป็นใครภายใต้ PDPA

 

 

  • เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject)
  • ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือคน บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ  ที่เป็นคนตัดสินใจว่า จะมีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอะไร เพื่ออะไร  ภายใต้ PDPA ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดหลักที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA ให้ครบถ้วน
  • ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ คน บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะทำภายใต้คำสั่ง หรือในนามของ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจทำการประมวลผลข้อมูลด้วยตัวเอง

 

สำหรับโทษหากไม่ปฎิบัติตาม PDPA ได้แก่

 

  • โทษอาญา: จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • โทษแพ่ง: ค่าสินไหมทดแทน + ค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่า
  • โทษปกครอง: ปรับไม่เกิน 1/3/5 ล้านบาท