BTS-BEM ระเบิดศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.ลุยประมูลหักด่านศาลปกครอง

27 พ.ค. 2565 | 03:10 น.

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ภาคสอง1.4 แสนล้าน BTS-BEM  สองยักษ์ระบบรางประกาศชิงเดือด รฟม.ลุยประมูลหักด่านศาลปกครองเกณฑ์ทีโออาร์คะแนนซองเทคนิค 90%  เข้มกว่ารอบแรก  ขณะอีก 4 เส้นทางใหม่ รฟม.-กทม. ทยอยประมูล 2.1แสนล้าน

ศึกชิงเค้กภาคสอง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า1.4แสนล้านบาทเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดขายเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 27พฤษภาคม -10 มิถุนายน 2565 รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ PPP

 

หลังยกเลิกประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่3กุมภาพันธ์ 2564เนื่องจากขณะนั้นมีเรื่องฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลปกครองกรณีแก้ไขหลักเกณฑ์ทีโออาร์ให้พิจารณาคะแนนซองเทคนิคร่วมกับซองราคาสัดส่วน 30% และ 70%ตามลำดับแทนการชี้ขาดที่ซองราคา100% 

 

เกรงว่าหากรอคำวินิจฉัยศาลเป็นที่สุดอาจทำให้โครงการล่าช้าซึ่งโจทย์ที่ยื่นฟ้องรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรัฐโครงการสายสีส้ม ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุน ปี 2562 ในครั้งนั้นคือบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC

 

 

 

 

 

 

 

ทีโออาร์สีส้มเข้ม

              

ขณะเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่รถไฟฟ้าสายสีส้มมีความเข้มข้นมากมีเงื่อนไขว่าผู้ยื่นประมูลต้องผ่านคะแนนเทคนิค 90% หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหมดสิทธิ์เปิดซองราคา อย่างไรก็ตามสองบริษัทยักษ์ใหญ่ทางรางต่างออกมาประกาศตัวว่าจะลงแข่งขันคว้าชัยโครงการสายสีส้มในครั้งนี้ประกอบด้วย

 

งานระบบรถไฟฟ้าขบวนรถบริหารการเดินรถซ่อมบำรุง มูลค่าเดินรถ 32,116 ล้านบาท และงานโยธาสายสีส้มตะวันตกมูลค่า 96,012 ล้านบาท ส่วนสายสีส้มตะวันออกงานก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จรอเพียงระบบเดินรถที่ต้องลุ้นว่าใครจะชนะประมูล

คุณสมบัติแน่นสร้างอุโมงค์หัวเจาะ

              

สำหรับคุณสมบัติแหล่งข่าวจากรฟม.ระบุว่า การกำหนดเอกสารประกวดราคา (RFP) ค่อนข้างเข้มงวดเพราะต้องการเอกชนที่มีความชำนาญการด้านเทคนิคสูงสุด เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินอีกทั้งผ่านย่านสำคัญเขตกรุงเทพชั้นในทั้งชุมชนขนาดใหญ่โบราณสถาน ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ

 

ดังนั้นผลงานสำคัญ ต้องผ่านงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะมาก่อน  งานออกแบบก่อสร้างสถานีใต้ดินงานออกแบบก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สามแบบไม่ใช้หินโรย มีประสบการณ์ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 25 ปี และดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีอย่างน้อยหนึ่งโครงการ

 

ที่สำคัญต้องเคยเป็นคู่สัญญารับงานภาครัฐโดยตรงและมีผลงานแล้วเสร็จไม่ต่ำกว่า 20 ปี เคยมีผลงานสัญญาเดียวมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเป็นต้น

              

ในทางกลับกัน กรณีเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอขาดประสบการณ์ดังกล่าว สามารถนำผลงานมายื่นเสนอได้แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียวหรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 51% ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000ล้านบาทโดยผู้ชนะประมูลจะได้สิทธิ์เดินรถไฟฟ้าทั้งระบบเป็นเวลา 30 ปี

 

BTS-BEM พร้อมลุย

              

ก่อนหน้านี้ นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่าบริษัทพร้อมยื่นประมูลแข่งขันตามขั้นตอนในทุกกติกาที่ ประกาศออกมา เนื่องจากบริษัทฯมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นคุณสมบัติและความสามารถในการประมูลแข่งขันในครั้งนี้ เพราะมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาดูเรื่องงานก่อสร้าง

              

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTSC ระบุ บริษัทพร้อมเข้าประมูลสายสีส้มรอบใหม่ แต่เบื้องต้นทางบริษัทต้องดูเอกสารประกวดราคา (RFP) ก่อนว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากการทำประชาพิจารณ์ของรฟม.ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การประมูล

              

“บริษัทตั้งใจจะเข้าร่วมการประมูลอยู่แล้ว หากรฟม.ยังยืนยันใช้เกณฑ์ด้านราคาควบคู่เกณฑ์ด้านเทคนิค บริษัทคงต้องพิจารณาว่าการประมูลมีความโปร่งใส ยุติธรรมหรือไม่”

 

คดีเก่า สายสีส้มยังไม่จบ

              

ทั้งนี้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่จะกระทบต่อคดีที่อยู่ในศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตหรือไม่นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า บริษัทต้องพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลที่ประกาศออกมา เพราะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย

 

ปัจจุบันคืบหน้าคดีการแก้ไขหลักเกณฑ์และยกเลิกการประมูลของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น ขณะนี้ศาลฯอยู่ระหว่างการสืบพยานทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อประกอบข้อเท็จจริง

              

ความคืบหน้าคดีที่ศาลปกครองยังอยู่ทั้งหมด 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีละเมิดการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลได้ตัดสินแล้วว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมายและยกฟ้องค่าเสียหาย 500,000 บาท

 

เนื่องจากบริษัทต้องจัดทำเอกสารข้อเสนอในการประมูลอยู่แล้ว โดยศาลพิจารณาให้จำหน่ายคดีบางส่วน 2.คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และรฟม.ยกเลิกประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลปกครองกลางพิจารณา

 

เปิดเค้ก 4 สาย 2 แสนล้าน

              

นอกจากรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะประมูลแล้ว อนาคตอันใกล้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ทั้งของรฟม.และกทม.ภายใต้การกำกับดูแลของนายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่ากทม.คนใหม่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.1 แสนล้านบาท

              

ประกอบด้วย สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ของรฟม. ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 20,864 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานระบบ 19,013 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,255 ล้านบาทสถานะ

 

อยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จช่วงเดือน กันยายน2566เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกวดราคา ราวปี 2566-2567 ได้เอกชนผู้ชนะประมูลร่วมลงทุนปี 2568 ก่อสร้างงานโยธา 39 เดือนเปิดให้บริการในปี 2571

              

ส่วนกทม.มี 3 โครงการได้แก่ สายสีทอง เฟส 2 ช่วงคลองสาน-ถนนประชาธิปก ขั้นตอนอยู่ระหว่างของบปี 2565 เพื่อจ้างศึกษาโครงการ รูปแบบ PPP เช่นเดียวกับสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ท่าพระ อยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมได้ ในปีนี้และ เสนอขออนุมัติดำเนินโครงการปี 2566

 

เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอประมูลปี 2567-2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ระหว่าง ปี 2569-2572 เปิดให้บริการปี 2573โดย ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ สำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.)กทม.เปิดสัมมนาปัจฉิมนิเทศเมื่อวันที่27พฤษภาคมนี้

 

 

เส้นทางสุดท้ายรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายสีเงิน) อยู่ระหว่างการแก้ไขอีไอเอ และสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการ เสนอกระทรวงมหาดไทย-ครมเห็นชอบ ปี 2566 เปิดประมูลปี 2567 เปิดให้บริการปี 2572

BTS-BEM ระเบิดศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม  รฟม.ลุยประมูลหักด่านศาลปกครอง