ย้อนอดีต “พร้อมเพย์” ผลงานชิ้นโบแดง 8 ปี “บิ๊กตู่” บริหารประเทศ

21 พ.ค. 2565 | 21:25 น.

ครบรอบ 8 ปี “บิ๊กตู่” บริหารประเทศ ตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พาไปย้อนอดีตงานชิ้นโบแดงกับการปฏิวัติระบบการเงินของประเทศ “พร้อมเพย์” โอนเงินไม่เสียค่าธรรมเนียม ไปดูจุดเริ่มต้น ก่อนจะมาถึงวันนี้ และปัจจุบันมีความก้าวหน้ายังไงบ้าง

ย้อนอดีตวันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว หลายคนคงจำสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นได้ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนเข้ามาบริหารประเทศ โดยตั้งรัฐบาล คสช. เรื่อยมาจนถึงการเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันนี้ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ไปเป็นที่เรียบร้อย

 

หากนับเฉพาะผลงานชิ้นโบแดงที่สามารถเอามาเครมได้ว่า เป็นการพลิกโฉมประเทศอย่างแท้จริง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “พร้อมเพย์” ซึ่งเป็นระบบการชำระเงิน รวมทั้งการโอนเงินไม่เสียค่าธรรมเนียม นับเป็นการปฏิวัติระบบการเงินของประเทศไทยครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์

 

สำหรับการเริ่มร่างนโยบาย “พร้อมเพย์” นั้น มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2558 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เล่าที่มาว่า เริ่มจากรัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่ (Transform) รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ 

 

โดยได้บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการภาคเอกชนและประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ และเข้าถึงง่าย ซึ่งได้ทำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัล อย่างเป็นขั้นเป็นตอน 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เริ่มจากการพัฒนาระบบ “พร้อมเพย์”

 

เพื่อสนับสนุนการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที จากนั้นในปีต่อมาจึงยกระดับระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการออกใบอนุญาต ก่อนจะมาพัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ เสร็จสิ้นในปี 2563

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายความว่า การพัฒนาระบบ “พร้อมเพย์” เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และ ธปท. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบพร้อมเพย์ ที่เอื้อให้การโอนเงินและชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำได้ "ถูก ง่าย สะดวก และปลอดภัย" ได้มาตรฐานสอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

โดยบริการของพร้อมเพย์ครอบคลุมทั้งบริการภาครัฐ เช่น การจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐ การจ่ายคืนภาษีผ่านเลขประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลักที่ผูกบัญชีธนาคารกับระบบพร้อมเพย์ ซึ่งจ่ายตรงถึงผู้รับและบริการภาคเอกชน ดังนี้

  • การโอนเงิน/รับเงินในชีวิตประจำวันของประชาชน (C2C transfer) 
  • การชำระบิลข้ามธนาคาร (cross-bank bill payment) 
  • การแจ้งเตือนเพื่อเรียกเก็บเงิน (PayAlert)  

 

การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ National e-Payment

การชำระเงินด้วยมาตรฐาน QR code

 

เช่นเดียวกับการชำระเงินด้วยมาตรฐาน QR code ของไทย หรือ Thai QR Payment พัฒนาสอดคล้องกับมาตรฐานสากล EMVCo1 มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ 

  • ผู้ใช้สามารถใช้ mobile banking ของธนาคารแห่งใดก็ได้ในการสแกน QR code เพื่อชำระเงิน 
  • ผู้ใช้สามารถใช้สื่อในการชำระเงินที่หลากหลาย เช่น บัญชีธนาคาร บัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัญชี e-Wallet 
  • ช่วยเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินที่สะดวกและต้นทุนต่ำให้แก่ร้านค้าทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ตั้งแต่ร้านค้าขนาดเล็กหรือรถเข็นริมทางไปจนถึงห้างร้านขนาดใหญ่ ต่างก็สามารถรับชำระเงินด้วย Thai QR Payment ได้ 
  • เป็นมาตรฐานที่เปิดกว้างและสามารถเชื่อมต่อกับระบบที่หลากหลายทั้งของสถาบันการเงินและ non-banks (open & interoperability) เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการมี QR code หลายประเภทในระบบการชำระเงินไทย
  • สามารถเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลง

 

การชำระเงินด้วย QR code แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 

  1. Thai QR Payment : ลูกค้าสแกน QR code ของร้านค้า และต่อยอดเป็นบริการอื่น ๆ เช่น e-Donation การบริจาคเงินด้วยการสแกน QR code ขององค์กรการกุศลที่ผู้บริจาคสามารถเลือกส่งข้อมูลการบริจาคไปที่กรมสรรพากรได้ทันทีเพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี 
  2. MyPromptQR : ร้านค้าสแกน QR code ของลูกค้า เป็นบริการแรกที่ถูกพัฒนาบนมาตรฐาน ISO 200222 สามารถใส่ข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น โปรโมชันเฉพาะลูกค้าแต่ละราย

 

ปัจจุบัน QR code มี 2 ประเภท 

  • ประเภทแรก static QR code หรือ QR code ที่สร้างแล้วสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องสร้างใหม่ทุกครั้ง เช่น QR code ที่พิมพ์ตั้งอยู่ตามร้านค้า เมื่อลูกค้าสแกน QR code ของร้านค้า ลูกค้าต้องกรอกจำนวนเงินที่จะชำระเอง 
  • ประเภทที่สอง dynamic QR code หรือ QR code ที่ต้องสร้างใหม่ในแต่ละครั้งเมื่อนำไปใช้ เช่น QR code ที่ร้านค้าสร้างเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าในแต่ละครั้งและจะระบุจำนวนเงินที่ต้องชำระมาด้วย ซึ่งช่วยลดขั้นตอนและลดความผิดพลาดในการชำระเงินได้

 

National e-Payment QR Payment

 

สำหรับการดำเนินการทั้งหมดนั้น แม้ในช่วงแรกจะยังตะกุกตะกัก และมีคนยังไม่เชื่อมั่นในระบบมากนัก แต่ต่อมาไม่นาน คนไทยก็ไม่อาจปฏิเสธระบบ “พร้อมเพย์” ที่ช่วยสร้างความสะดวก แค่มีโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน เครื่องเดียวก็สามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปยังสาขาธนาคารเหมือนในอดีต ที่สำคัญยังฟรีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมด้วย

 

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เช่น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ หรือการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ก็สามารถใช้ช่องทางของ “พร้อมเพย์” ยิงเงินเข้าไปถึงตัวของประชาชนได้ทันที 

 

ขณะเดียวกันในบริการภาครัฐหลายอย่างก็ยังใช้ “พร้อมเพย์” เป็นช่องทางธุรกรรมทางการเงิน เช่น การชำระ หรือ จ่ายภาษีประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบประกันสังคม เงินสงเคราะห์เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเปราะบางด้วย

 

แบงก์ชาติ ระบุว่า "พร้อมเพย์" นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที (real-time) ที่ใช้หมายเลขอ้างอิงอื่นแทนเลขที่บัญชีธนาคารที่จดจำยาก เช่น หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน เลขทะเบียนนิติบุคคล และ e-Wallet ID ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้การชำระเงินและโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง 

 

เปรียบได้กับการสร้างถนนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รองรับรถได้หลายประเภท ทำให้สามารถเข้าถึงท้องที่ต่าง ๆ ได้ทั่วถึงมากขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนและธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ภาครัฐใช้เป็นเครื่องมือในการรับ-จ่ายเงินได้อย่างคล่องตัว ถึงมือผู้รับโดยตรง

 

“พร้อมเพย์” จึงเปรียบเป็น game changer ที่ปรับโฉม digital payments ของไทยให้ทันสมัย มีบริการต่าง ๆ ที่สอดรับกับ digital lifestyle ของประชาชนและผู้ประกอบการที่พึ่งพาเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การใช้ mobile banking หรือแอปพลิเคชัน e-Wallet ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทนการไปสาขาธนาคาร

 

การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ National e-Payment

 

สำหรับข้อมูลล่าสุดของการใช้ “พร้อมเพย์” ณ เดือนกันยายน 2565 พบว่า มีผู้ใช้บริการพร้อมเพย์อยู่ที่ 66.9 ล้านหมายเลข มีการทำรายการเฉลี่ยต่อวัน 29.5 ล้านรายการ มูลค่า 94,100 ล้านบาทต่อวัน โดยเฉลี่ยคนไทยมีการโอนและชำระเงินผ่านพร้อมเพย์ 297 ครั้งต่อคนต่อปี