รัฐ-เอกชน เร่งอัพสปีดดิจิทัลพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

21 พ.ค. 2565 | 06:19 น.

รัฐ-เอกชน ชูเทคโนโลยีดิจิทัลพลิกฟื้นเศรษฐกิจ “ชัยวุฒิ” เดินหน้าผลักดัน “ดิจิทัล ไอดี-ดิจิทัล แพลตฟอร์ม”ปลดล็อคขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งเป้าปี 73 มีสัดส่วน 30% ของจีดีพี ขณะที่ภาคเอกชน เผยเทรนด์เทคโนโลยี จี้ธุรกิจเร่งทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล รับมือโลกเปลี่ยน

เวทีสัมมนา “Thailand Digital Fast Forward อัพสปีดเศรษฐกิจดิจิทัล จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสำนักข่าวสปริงนิวส์ สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการ ความก้าวหน้า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทั้งนโยบายภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน

 

โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เศรษฐกิจดิจิทัล อนาคตประเทศไทย” ว่าในยุคที่โลกต้องเผชิญความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ที่ทำให้บริบทของโลกเปลี่ยนไป รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับเทรนด์ของโลกที่ก้าวเข้ายุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจนเข้มแข็ง  โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะเติบโต และมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของจีดีพีประเทศได้ และเชื่อว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี

รัฐ-เอกชน เร่งอัพสปีดดิจิทัลพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่าแผนงานที่ กระทรวงดิจิทัลฯ จะดำเนินการถัดไปหลังจากนี้เพื่อปลดล็อคการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ คือ 1.ดิจิทัล ไอดี (Digital ID) ที่ช่วยให้การยืนยันตัวตนทางออนไลน์ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยขณะนี้กำลังคุยกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำระบบยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า ซึ่งตั้งใจจะทำให้เสร็จภายในปีนี้ และ 2. ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เข้ามาช่วยในการกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขณะนี้ ร่าง พรฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พศ.

 

ด้านพล.อ.ท.ดร ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ทั้ง 5 คนเป็นคนเสนอตัวเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้เอง แม้ขณะนี้การทำงานของกสทช.กำลังเป็นที่จับตาของสังคมและจากหลายภาคส่วน เพราะกสทช.ได้รับการสรรหามาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น การทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ สำหรับแนวทางการทำงานของ กสทช.ในยุคที่ดิจิทัลดิสรัปชั่นแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกๆอย่าง ดังนั้น จึงต้องพยายามปรับขอบเขตการทำงานจากการ “กำกับดูแล” เราต้องหันมา “ส่งเสริมอุตสาหกรรม” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

 

ขณะที่ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA กล่าวว่า ภาพรวมและนโยบายของ DGA ในการเดินหน้าพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องขีดความสามารถการแข่งขันนั้นภาครัฐมีความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทุกหน่วยงานต้องปรับตัวเป็นรัฐบาลดิจิทัล ในความหมาย คือ ยกระดับนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐ เปลี่ยนโฉมภาครัฐเปลี่ยนการทำงานใหม่เข้าสู่ระบบดิจิทัล โดยภายใน 5 ปี หลังจากนี้ระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐจะยกระดับขึ้นเป็นเบอร์สองของอาเซียน

เอกชนชี้ดิจิทัลพลิกชีวิต-โลกธุรกิจ

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วันนี้ดิจิทัลอีโคโนมีมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ และจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันให้การฟื้นตัวทำได้รวดเร็วมากขึ้นข้อมูลโดยไอดีซีระบุว่า ปี 2563 ท่ามกลางสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและตัวเลขจีดีพีที่ตกลงราว 2.8% ทว่าการใช้จ่ายด้านไอทีกลับเติบโตเพิ่มขึ้น 5% เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของดิจิทัลได้เป็นอย่างดี สำหรับปีนี้ไอดีซีคาดการณ์ไว้ว่ากว่า 50% ของเศรษฐกิจทั่วโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

 

สำหรับไทย นับเป็นผู้นำด้าน 5 จี ในระดับภูมิภาคและระดับท็อปของโลก ที่ผ่านมาได้เห็นทั้งการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม มีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 5 ล้านคน มากที่สุดในระดับภูมิภาค มากกว่านั้นเป็นผู้นำด้านฟิกซ์บรอดแบนด์ที่มีสัดส่วนการเข้าถึงกว่า 58.96% ขณะที่ระดับโลก 56% ไม่เพียงเท่านั้นมีการปรับใช้คลาวด์อย่างเป็นรูปธรรมจากเดิม 59% เพิ่มขึ้นไปเป็น 78% ที่น่าสนใจมีการผสมผสานการใช้งานเอไอในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนำปรับและผสมผสานในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

 

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต้องทำภายใต้บริบทโลกใหม่ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว การปรับตัวเพื่อให้พร้อมล่าสุด AIS ได้ยกธุรกิจระดับสู่ Cognitive Telco ซึ่งการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีมีผลบวกอย่างมากกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และตั้งแต่ AIS ให้บริการ 5 G ใช้เงินลงทุนโครงข่ายไปไม่ตํ่ากว่า 60,000 ล้านบาท หากรวมกับการประมูลใบอนุญาตก็น่าจะเกิน 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงข่าย 5G ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เท่ากับการสร้างโอกาสมหาศาลของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีการประเมินว่าในปี 2025 มูลค่าของตลาด 5G ในประเทศไทยจะเติบโตได้สูงถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดย AIS 5G ต้องสามารถเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างดีด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งทัดเทียมนานาชาติ

 

ขณะที่นายเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีที่จะสร้างอิมแพคเพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น และให้ธุรกิจสามารถนำมาควบรวมและประยุกต์ใช้ มีทั้งหมด 5 เทรนด์ได้แก่ ไอโอที เอไอ บล็อกเชน เมตาเวิร์สซึ่งฮิตมาก และโรโบติก ทั้ง 5 เทรนด์นี้คือเทรนด์ใหญ่ที่จะเห็นใน 2-3 ปีนี้และจะสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้น นี่คือ 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแน่ ธุรกิจต้องหยิบจับแล้วนำไปควบรวมเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจ อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ดาต้า การเอาดาต้ามาทำให้เกิดอินไซด์มากเท่าไหร่ ธุรกิจจะประสบความสำเร็จมากเท่านั้น

 

ส่วนนายฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าดิจิทัลกำลังเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนเข้ามาพลิกวิถีการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน ดีแทคมีจุดยืนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ผลักดันในวาระดิจิทัลของประเทศ ด้วยหัวใจสำคัญใน 3 เสาหลัก1. SAFEGUARD ปกป้องผู้ใช้งาน ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และโลกของเรา, 2. INCLUDE สร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและ 3. ADVANCE ยกระดับบริการการเชื่อมต่อสู่อนาคตดิจิทัล

 

ด้านนายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป กล่าวว่าสิ่งสำคัญมากขณะนี้คือ การทำธุรกิจให้มีความแข็งแรง เพราะธุรกิจเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ คือ การลงทุนใน Cloud Computing ที่มองว่าบริษัทจำเป็นต้องย้ายโครงสร้างบางส่วนของธุรกิจมาอยู่บน Cloud เพราะสามารถช่วยลดต้นทุน และการสูญเสียทรัพยากร

 

ส่วนนายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า กว่า 2ปีที่ผ่านมาท่ามกลางระบาดของโควิด-19 โลกการเงินที่นำเทคโนโลยีมา เพิ่มความสะดวกสบายกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะ “โมบาย แบงก์กิ้ง” ที่มีผู้บริโภคเข้าถึงบริการประมาณกว่า 70 ล้านบัญชีเมื่อปลายปีที่แล้วเห็นได้จาก 3 เทรนด์หลักที่ผูกโลกการเงินกับดิจิทัล ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงโลกการเงินกับดิจิทัล 2.ระบบนิเวศน์ที่เชื่อมต่อกับโลกกาเงิน และ 3.การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ

 

ขณะที่นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ต้องมองเห็นสัญญาณทางเทคโนโลยี และต้องรู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง อนาคตที่จะเกิดขึ้น มีใครทำอะไรไปบ้างแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรใหม่ๆ สามารถแคปเจอร์ภาพเทคโนโลยีที่น่าสนใจ มาสร้างอนาคตของธุรกิจ จนสามารถทำให้ธุรกิจของเขาสามารถต่อยอดและไปได้เร็วกว่าคนอื่น ซึ่งพบว่า มี 6 สัญญาณที่น่าสนใจ คือ 1.การเรียนรู้ข้อมูลในอนาคต 2.ทำอย่างไรให้ข้อมูลการตัดสินใจ ใกล้กับจุดที่ต้องการตัดสินใจมากที่สุด 3.นำเรื่อง Sustainability มาเชื่อมต่อกับองค์กร 4.ปัญหาซัพพลายเชน 5.การนำ Virtual มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และ 6.การนำเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม สร้างให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ