กังขา! กสทช. เร่งทำโฟกัสกรุ๊ปลับ ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค”กลุ่มนักวิชาการ

19 พ.ค. 2565 | 09:39 น.

วงการสื่อสารสุดกังขา กสทช.เร่งสปีดเวทีโฟกัส กรุ๊ป ฟังความเห็นดีลควบรวม”ทรู-ดีแทค”นักวิชาการ แถมยังปิดลับราวกับเรื่องสำคัญของโลก ทั้งที่เปิดเวทีครั้งก่อนยังทำสังคมคาใจไม่หาย หลังตัวแทนภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม ตบเท้าให้ความเห็นราวถอดพิมพ์เขียวเดียวกัน

แหล่งข่าวในวงการสื่อสารและโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากควันหลงจากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด หรือ Focus Group กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัดและบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค ครั้งที่ 1 ในกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ยังคงทำให้หลายภาคส่วนตั้งข้อกังขาต่อผลสรุปความคิดเห็นที่ได้ ที่ส่วนใหญ่เห็นพ้องกับดีลควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค "ราวกับถอดพิมพ์เขียวเดียวกัน

 

แม้แต่ที่ประชุมบอร์ดกสทช.ยังตั้งข้อสังเกตความคิดเห็นโฟกัส กรุ๊ปที่ได้ว่า มีความครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ ด้วยข้อมูลที่ได้แตกต่างและสวนทางกับรายงานผลศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาฯที่ปรึกษาอิสระที่สำนักงาน กสทช.ดำเนินการว่าจ้างฯซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า หากดีลควบรวมกิจการ "ทรู-ดีแทค"สำเร็จลุล่วงไปได้ จะทำให้ค่าบริการในระยะยาวเพิ่มขึ้น 20-30% จนถึงขั้นที่ กสทช.เตรียมทบทวนแนวทางการจัดเวทีประชาพิจารณ์ใหม่

ล่าสุดแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมต้องอึ้งกิมกี่หนักเข้าไปอีก เมื่อมีกระแสข่าวว่า สำนักงาน กสทช.กำหนดจัดเวทีโฟกัสกรุ๊ป ครั้งที่ 2  ความเห็นจากนักวิชาการ ในวันศุกร์ที่ 20 พ.ค.นี้ และกำหนดจัดครั้งที่ 3 ต่อเนื่องกันไป โดยเตรียมเชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรในภาคส่วนประชาสังคม และเครือข่ายคุ้มครองผู้บรโภคเข้าร่วม แต่กลับดำเนินการจัดเตรียมเวทีโฟกัสกรุ๊ปครั้งนี้อย่างเงียบกริบ ไม่ยอมแพร่งพรายให้เจ้าหน้าที่ กสทช.เองรับทราบกำหนดการ  แม้กระทั่งรายชื่อนักวิชาการที่ได้รับเชิญเข้าร่วมก็ยังปกปิดไม่ยอมแพร่งพรายให้รับทราบว่า มีใครบ้าง ทำเอาทุกฝ่ายพากันเคลือบแคลงสงสัย กสทช.กำลังทำอะไรกันแน่

 

“ไม่เข้าใจว่า เหตุใด กสทช.ถึงรวบรัดจัดเวทีโฟสกัส กรุ๊ป ครั้งนี้อย่างเร่งรีบและกระทำราวกับเป็นเรื่องลับที่ไม่สามารถให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ ทั้งที่การจัดเวที่ครั้งก่อนยังคงมีปัญหาในเรื่องของข้อมูลที่ได้รับที่ยังขาดความครอบคลุม และเกรงว่า กสทช.จะเลือกเชิญแต่นักวิชาการที่ให้การสนับสนุนดีลควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค"เป็นหลักเท่านั้น  เพราะจากการสอบถามนักวิชาการหลายคนที่เคยออกโรงแสดงความเห็นคัดค้าน อ้างว่า ยังไม่ทราบกำหนดการณ์ในครั้งนี้”

ย้อนรอยความเห็นนักวิชาการดัง

สำหรับความเห็นของนักวิชาการที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อดีลควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค"ในช่วงที่ผ่านมานั้น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ถือเป็นนักวิชาการคนแรกที่ออกมาคัดค้านดีลควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค"ในครั้งนี้ โดยระบุว่า ตามหลักการนั้น หากเป็นการควบรวมที่นำไปสู่การทำวิจัยเพื่อลดต้นทุน ลดการลงทุนซ้ำซ้อน หาหนทางและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังประโยชน์ต่อผู้บริโภคเข้ามา ก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค

 

แต่หากเป็นการควบรวมกิจการที่ทำไปแล้วทำให้โครงสร้างตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้าม ลดจำนวนผู้ให้บริการ จำนวนผู้เล่นในตลาดลงเช่นจากที่เคยมีผู้ให้บริการ 3 รายเหลืออยู่ 2 รายก็มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคผู้ใช้บริการจะถูกเอาเปรียบในท้ายที่สุด ยิ่งในอนาคตอันใกล้ที่ทุกอยู่หลอมรวมมาอยู่บนโลกดิจิทัลแพลตฟอร์ต ทุกอย่างบ่ายหน้าสู่ Internet of Thing (LOT) การที่โครงสร้างตลาดกลับมีผู้เล่นน้อยราย ย่อมกระทบเป็นลูกโซ่ไปในวงกว้าง ทั้งร้านจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซัพพลายเออร์ ในอนาคตที่ภาครัฐจะต้องเปิดประมูลคลื่น 6จี 7 จี ก็จะไม่เกิดการแข่งขัน รัฐเองก็ต้องสูญเสียประโยชน์ ประชาชนผู้ใช้บริการก็มีแนวโน้มจะถูกบังคับอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต  

 

 “ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือ การควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว การควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขัน และตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการถอยหลังลงคลองไปสู่อดีตช่วงที่ประเทศไทยมีมือถือใหม่ๆ ที่มีผู้ให้บรนิการในตลาดเพียง 2 ราย ทำให้ตลาดแทบไม่เกิดการแข่งขัน”

 

ประธานทีดีอาร์ไอได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีพิจารณากรณีนี้อย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้เกิดสุญญากาศ หรือเอาเปรียบผู้บริโภคได้ และต้องไม่ปล่อยให้โครงสร้างของตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเช่นนี้  หาก กสทช.ไม่สามารถจะใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ได้ก็ต้องย้อนกลับไปดู พรบ.แข่งขันทาง ต้องใช้กลไกตามพรบ.แข่งขันทางการค้าเข้ามากำกับดูแลไม่ให้เกิดการควบรวมที่มีลักษณะลดทอนการแข่งขันเช่นนี้ได้ 

 

“ดร.นิเวศน์” เตือนผู้บริโภครับกรรม

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่าของตลาดทุนไทย เปิดมุมมองต่อดีลการควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค"  ว่า ท้ายที่สุดแล้วดีลนี้น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และสามารถจัดตั้งบริษัทใหม่ได้ตามแผน อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม เพราะการรวมบริษัทครั้งนี้ทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 เจ้า ซึ่งอาจทำให้รายใดรายหนึ่งมีอำนาจควบคุมตลาดมากไป และทำให้การแข่งขันในตลาดน้อยลง ซึ่งจะกระทบกับผู้บริโภคในที่สุด

 

ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า หากเทียบกับกรณีในต่างประเทศ ซึ่งมีกฎหมายต่อต้านการผูกขาด หรือ Antitrust  จะพบว่ามีการต่อต้านเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ตลาดเสียสมดุล และป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งมีอำนาจทางการตลาดมากเกินไป หรือมีขนาดใหญ่เกินไป   กฎหมายนี้ถูกใช้พื่อกำกับให้ผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ไปแตกบริษัทออกเป็นบริษัทย่อยๆ ด้วยซ้ำ  แต่สำหรับประเทศไทย ยอมรับว่ายังไม่เห็นเคยการใช้กฎหมายเรื่องนี้บังคับให้เอกชนแตกกลุ่มบริษัทออกเป็นบริษัทย่อย แต่จะเป็นลักษณะของการกำหนดเงื่อนไขพิเศษแก่เอกชนรายใหญ่มากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการผูกขาดทางการตลาด

 

 “จึงเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็น่าจะได้รับความเห็นชอบและดำเนินการได้ตามแผน แต่ก็น่าจะถูกกำหนดเงื่อนไขพิเศษบางอย่าง เพื่อให้ตลาดและผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบในภายหลัง”

 

จากตลาดกึ่งผูกขาด..สู่ผูกขาดถาวร 

นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตนักวิจัยโครงการตรวจสอบนโยบายและกระบวนการทำงานของ กสทช.( NBTC Policy Watch) กล่าวถึงดีลควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค"ว่า ข้ออ้างของบริษัทเอกชนที่ว่าหลังการควบรวมแล้วต้นทุนดำเนินงานจะต่ำลง และดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นอาจจะจริง แต่ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าประสิทธิภาพเหล่านี้จะถูกส่งผ่านมาให้ผู้บริโภคไปด้วย เพราะเมื่อไม่มีการแข่งขันแล้วก็ไม่มีสภาพบังคับให้เอกชนต้องลดราคาค่าบริการและเพิ่มคุณภาพในการให้บริการเพื่อแข่งขันกัน ซึ่งมีตัวอย่างการควบรวมในหลายประเทศที่เมื่อมีผู้แข่งขันในตลาดลดลงราคาค่าบริการก็เพิ่มสูงขึ้นตามมา

 

อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้จะป้องกันได้ หากหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมฯ อย่าง กสทช.และการแข่งขันทางการค้าอย่าง กขค. เข้ามาตรวจสอบและมีมาตรการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่การควบรวมกันจะเกิดขึ้น แต่จากท่าทีของทั้งสองหน่วยงานกลับไม่มีความชัดเจนว่า เป็นหน้าที่ของใครหรือจะร่วมมือกันอย่างไรในการเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้

 

ด้าน ผศ.ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์  อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ ได้สะท้อนถึงดีลควบรวมกิจการ"ทรู-ดีแทค"ว่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนแน่นอน เนื่องจากทางเลือกการให้บริการลดลง จากข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า welfare effects เมื่อเกิดความกระจุกตัวของตลาด ทำให้ผู้ประกอบการน้อยลงและถือส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาด้านการแข่งขันลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเสียหายด้วย เพราะไม่มีการลงทุนและการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า

 

ในส่วนของมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการฯนั้น เห็นว่าพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือพรบ.กสทช.นั้น กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกสทช.ในการกำหนดมาตรการการป้องกันการผูกขาด ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และแม้ ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการฯ ปี2561 จะเป็นปัญหาอยู่ว่าเป็นประกาศที่ลดทอนอำนาจของตนเองหรือไม่ แต่ กสทช.ยังคงมีอำนาจในการกำกับดูแลดีลควบรวมเหล่านี้ ทั้งจาก มาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากอยู่ในข้อบังคับการแข่งขันทางการค้า ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะสำหรับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องดูแลไม่ให้ผู้ได้รับอนุญาตกระทำการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันทางการค้า

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้คนในแวดวงสื่อสารโทรคมนาคม ยังคงเป็นกังวลอยู่ก็คือ หวั่นเกรงว่าเวทีโฟกัสกรุ๊ปที่จะจัดขึ้นอาจถูกกลุ่มทุนสื่อสารที่กำลังเดินเกมควบรวมกิจการส่ง“นอมินี”และส่งลูกตู้ตบเท้าเข้ามาแสดงความเห็นในลักษณะชี้อีกจนทำให้ กสทช.ได้รับข้อมูลที่เบี่ยงเบนผิด ๆ ไปจนกลายเป็นการจัด “เวทีโฟกัสกรุ๊ปทิพย์” ฟอกขาวดีลควบรวมกิจการไปอีก