เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้"ตลาดคาร์บอน"โอกาสธุรกิจใหม่

11 พ.ค. 2565 | 10:30 น.

ผู้อำนวยการองค์การก๊าซเรือนกระจกชี้ ธุรกิจหนีกระแสสังคมคาร์บอนต่ำไม่พ้น เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสในตลาดคาร์บอน เร่งลดการปล่อยคาร์บอน สร้างโอกาสธุรกิจสีเขียว แปลงคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้ เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันให้อยู่รอด 

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ TGO  กล่าวระหว่างเสวนา "Carbon War :จุดเปลี่ยนการค้าการลงทุนโลก" ในงานสัมมนา "Carbon War วิกฤต-     โอกาสไทยบนเวทีโลก" จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า สังคมคาร์บอนต่ำเป็นกระแสโลกที่เราไม่เปลี่ยนตามไม่ได้ จึงต้องกลับมาดูหน่วยงานของเราองค์กรของเรา ว่าจะปรับตัวลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร

 

แล้วใช้เป็นจุดขายในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งหากทำได้ดีจริง ๆ จนมีส่วนเหลือสามารถเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปซื้อขายเป็นรายได้ใหม่ ตลอดจนอาจเป็นโอกาสใหม่ธุรกิจใหม่ เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อเอาคาร์บอนเครดิต ธุรกิจสีเขียวต่าง ๆ  

เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้"ตลาดคาร์บอน"โอกาสธุรกิจใหม่


    TGO มีภารกิจสร้างความรับรู้เรื่องภาวะก๊าซเรือนกระจก และจะแก้ไขอย่างไร กำกับดูแลมาตรฐานการวัด ตลอดจการสร้างตลาดคาร์บอน เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการปรับตัวให้เข้าสู่เป้าหมายระดับต่าง ๆ  ในกติกาโลก ให้การวัดของไทยอยู่ในมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนส่งเสริมกิจการให้รวมตัวเป็นเครือข่าย"Carbon Footprint Network" ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโดยสมัครใจกว่า 100 กิจการ เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวสู่กติกาใหม่

 

นายเกียรติชายกล่าวอีกว่า การสร้างตลาดคาร์บอนจะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจ ในการปรับตัวสู่การลด ละ และเลิก การปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากในกระบวนการผลิตของธุรกิจต่าง ๆ จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา เรียกว่าสร้าง คาร์บอน ฟุตปรินท์ ให้เกิดขึ้น กิจการไหนที่ปล่อยมากก็จะมีค่าคาร์บอน ฟุตปรินท์สูง ขณะที่กิจกรรมที่ทำแล้วลดการปล่อยคาร์บอน เรียกว่ามีคาร์บอน เครดิต หากหักกลบแล้วมีส่วนเหลือสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้

เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้"ตลาดคาร์บอน"โอกาสธุรกิจใหม่

เมื่อเป้าหมายคือลดการปล่อยคาร์บอน จึงต้องทำให้การปล่อยคาร์บอนต้องมีราคาหรือต้นทุน อาจจะเป็นมาตรการภาษี ใครปล่อยมากก็เสียมาก อีกวิธีหนึ่งคือควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเกณฑ์กลางไว้ ใครปล่อยเกินค่ากลางนี้ต้องเสียค่าปรับ ส่วนใครที่ปล่อยน้อยกว่า สามารถเอาส่วนเหลือเป็นเครดิตมาขายหรือแลกเปลี่ยนแก่รายที่ปล่อยเกินได้ ทำให้เกิดตลาดคาร์บอน(Carbon Trading System) ขึ้น  

 

เดิมการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเครดิตคาร์บอน ทำให้อุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ต่อมาพัฒนาเป็นสนับสนุนให้คนทำกิจกรรมที่สร้างผลดีให้เอามาเครดิตได้ เช่น กิจกรรมปลูกป่า ลดขยะ เปิดให้ตลาดคาร์บอนขยายขึ้นโดยให้แลกเปลี่ยนกันข้ามอุตสาหกรรมได้ด้วย 

 

"หลักการแลกความดีนี้ส่งผลดี เอาความดีมาเป็นเครดิตที่สามารถเอามาขายให้กับฝั่งที่ลดคาร์บอนลงไม่ได้ เกิดการสร้างกลไกตลาดขึ้นมาช่วย ทำให้โครงการที่สร้างผลทางบวกแก่สังคมหรือสิ่งแวดล้อม ที่เดิมมีผลตอบแทนต่ำ เกิดมีมูลค่าที่จูงใจให้คนมาลงทุนทำกันมากขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน"

 

อย่างไรก็ตาม นายเกียรติชายชี้ว่า ตลาดคาร์บอนที่เกิดขึ้นทำให้ชาติใหญ่บางส่วนไม่ลดการปล่อยคาร์บอน แต่ใช้วิธีซื้อเครดิตคาร์บอนจากประเทศอื่นมาชดเชยแทน ภายหลังจึงมีเป้าหมายและกติกาใหม่เข้ามาเสริม เช่น ประกาศเป้าหมายลดละเลิกการปล่อยคาร์บอนของประเทศและกิจการ ออกมาตรการภาษี เพื่อให้ผู้ปล่อยคาร์บอน ต้องหาทางลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตของตนเองลง เมื่อทำจนลดไม่ได้ต่อไปแล้ว จึงไปใช้ตลาดคาร์บอนในการซื้อขายเพื่อชดเชยคาร์บอนส่วนเกินของกิจการของตน ถ้ายังทำไม่ได้อีก อาจต้องลงทุนในการดักจับคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีต้นทุนสูงที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องเลือกวิธีที่ตนเองจะมีต้นทุนต่ำสุด 

 

"ตอนตั้ง TGA เราได้ส่งเสริมไป 222 โครงการ ให้สามารถไปขอคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนโลก โดยเวลานั้นยังไม่ได้เป็นผู้รับรองคาร์บอนฟุตปรินท์เอง ต้องให้องค์กรของสหประชาชาติเป็นผู้ตรวจรับรอง แต่วันนี้เราได้พัฒนามาตรการฐานวัดที่เป็นมาตรฐานสากล และต้องติดตามศึกษาและพัฒนาการวัดเทียบเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่แต่ละประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจจะออกมาเรื่องคาร์บอนฟุตปรินท์ เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อใช้ตรวจวัดกับธุรกิจไทย ถ้าเราจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไว้เองแล้ว เมื่อจะส่งไปขายในอียูไม่ต้องเสียภาษีซ้ำอีก ดังนั้น ต่อไปทุกคนต้องลดการปล่อยคาร์บอนหมด อยู่ที่ว่าใครจะทำได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า ก็จะสามารถแข่งขันได้ดีกว่า ต่อไปต้องแข่งกันตรงนี้"

 

ต่อไปทุกธุรกิจ รวมถึงการเดินทางขนส่งทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ ที่เจอภาษีการปล่อยมลพิษ ภาคการบิน ที่ประกาศเกณฑ์แล้วว่าห้ามปล่อยคาร์บอนเกินกว่าปี 2020 จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งปรับแก้เครื่องยนต์ ขนาด การใช้เชื้อเพลิง เรือเดินสมุทรก็ต้องลดการปล่อยมลภาวะ กระแสนี้ใครไม่เปลี่ยนไม่ได้ จึงต้องปรับวิธีคิดจากมองว่าเป็นภาระหรือต้นทุน เปลี่ยนเป็นโอกาสในการปรับตัวก่อน และมีโอกาสใหม่เกิดธุรกิจใหม่ ที่เป็นธุรกิจสีเขียวที่จะมีต้นทุนต่ำกว่ากิจการที่ปล่อยคาร์บอนสูง จึงจะเป็นทางรอดของธุรกิจ ขณะที่โลกก็ได้ปรับตัวสู่ภาวะที่โลกที่สะอาดขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้คนกลับมาดีขึ้น 
    สังคมคาร์บอนต่ำเป็นเป้าหมายที่โลกกำลังเดินไป แม้ช่วงแรกมาตรการเพิ่มภาระผู้ปล่อยคาร์บอนเริ่มที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรม แต่เชื่อว่าต่อไปจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นจนอาจบังคับใช้กับทุกประเภท ดังนั้นมิใช่เพียงกิจการใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบ แต่จะขยายวงและลงลึกเพิ่มขึ้น ๆ ซึ่งTGA ไม่เพียงร่วมมือกับกิจการใหญ่เท่านั้น แต่ลงไปถึงกิจการขนาดกลาง-เล็ก จนถึงวิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อปรับตัวให้ทันรับกติกาโลกนี้ด้วย นายเกียรติชายกล่าว