สร้าง “ทางด่วนพระราม 3” คืบหน้าถึงไหน-เปิดให้บริการเมื่อไร

28 เม.ย. 2565 | 12:23 น.

กทพ. เผยสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. เปิดแผนคืบหน้า 5 สัญญาถึงไหนแล้ว พร้อมเปิดบริการเมื่อไร

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้ดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร (กม.) โดยแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 5 สัญญา ประกอบด้วย งานโยธา จำนวน 4 สัญญา และงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจรและระบบสื่อสาร จำนวน 1 สัญญา  มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2562 คาดว่าทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก จะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567

 

 


ทั้งนี้ด้านความก้าวหน้าในการก่อสร้าง ดังนี้ สัญญาที่ 1 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 13+000 ของถนนพระราม 2ถึง กม. 6+600 ของถนนพระราม 2 ระยะทางรวมประมาณ 6.4 กิโลเมตร โดยมีความก้าวหน้าของโครงการ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ดังนี้ แผนงานสะสม 1.02% ผลงานสะสม 1.46% เร็วกว่าแผน +0.44% ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานเสาเข็มเจาะ งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค งานวาง Barrier กั้นพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะดำเนินการจัดช่องจราจรใหม่ บนถนนพระราม 2 ทั้ง 2 ทิศทาง ตั้งแต่ กม.(ทล.) 10+000 ถึง กม.(ทล.) 8+467 (บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนถึงโลตัสพระราม 2 ช่วงวันที่ 27 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2565
 

สัญญาที่ 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.6+600 ของถนนพระราม 2 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทางรวมประมาณ 5.3 กิโลเมตร โดยมีความก้าวหน้าของโครงการณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ดังนี้แผนงานสะสม 33.20% ผลงานสะสม 38.80% เร็วกว่าแผน +5.60% ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานติดตั้ง Precast Crosshead และ Precast Segment อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเบี่ยงจราจรฝั่งขาเข้าและขาออก ฝั่งละ 2 ช่องจราจร ในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. 

 


สัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรคร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ ระยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีความก้าวหน้าของโครงการณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ดังนี้แผนงาน 1.02% ผลงาน 2.05% เร็วกว่าแผน +1.03% ขณะนี้จะดำเนินการก่อสร้างฐานรากเสาตอม่อ ช่วง กม. 15+545 ถึง กม. 15+621 โดยจะทำการปิดเบี่ยงจราจรบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ และซอยสุขสวัสดิ์ 50 
 

 

สัญญาที่ 4 เป็นงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร ความก้าวหน้าของโครงการ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นดังนี้ แผนงาน 61.50% ผลงาน 71.73% เร็วกว่าแผน +10.21% โครงการฯ จะปิดเบี่ยงเฉพาะช่องทางฉุกเฉินบนสะพานพระราม 9 (ขาออก) เพื่อทำการก่อสร้างคานรองรับพื้นสะพาน (Cross Head) โดยจะปิดเบี่ยงช่องจราจรตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 เมษายน-วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2565
 
 

สร้าง “ทางด่วนพระราม 3” คืบหน้าถึงไหน-เปิดให้บริการเมื่อไร

สัญญาที่ 5 (งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร) อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างขอบเขตของงานจ้างก่อสร้างให้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บริเวณตู้เก็บค่าผ่านทาง ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและจะช่วยในการระบายการจราจรหน้าด่านฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดคล้องและสามารถเชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการทางยกระดับบนถนนทางหลวงหมายเลข 35 ของกรมทางหลวงในอนาคต

 


 
สำหรับโครงการฯมีทางขึ้น - ลง จำนวน 7 แห่ง โดยมีจุดเริ่มต้น อยู่ที่ กม. 13+000 ของถนนพระราม 2 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางขวาเข้าซ้อนทับกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 9 โดยจะก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ซึ่งมีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการฯ