ปตท.สผ.จ่ายหมื่นล้าน รื้อแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกช

23 เม.ย. 2565 | 01:02 น.

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รับมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเลแหล่งบงกช 1 หมื่นล้านบาท จากปตท.สผ.ใช้รื้อถอนแท่นปิโตรเลียม 46 แท่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 4 แท่น รัฐไม่รับมอบนำไปใช้ประโยชน์ ต้องรื้อถอนทันที่อีกกว่า 1.5 พันล้าน

 

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ในอ่าวไทย ประกอบด้วยแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข 15 ที่จะสิ้นอายุสัมปทานในเดือนเมษายน 2565 และแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 16 และ 17 ที่จะสิ้นอายุสัมปทานในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลได้ต่อระยะเวลา 10 ปีในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี

 

โดยมีแท่นผลิตปิโตรเลียมที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อจำนวน 46 แท่น และแท่นที่รัฐไม่นำไปใช้ประโยชน์ 4 แท่น ได้ดำเนินการส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง เพื่อไปดำเนินการเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาพีเอสซีแล้ว

 

สำหรับการส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งครั้งนี้  เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ของผู้รับสัมปทานโดยเป็นขั้นตอนหนึ่งภายใต้แผนงานส่งมอบสิ่งติดตั้งตามที่ ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง (Asset Transfer Agreement) ของแหล่งบงกชที่ได้ลงนามร่วมกันระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และปตท.สผ. ในฐานะผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม เพื่อให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินำไปใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบแทน ปตท.สผ. ภายหลังสิ้นอายุสัมปทานของแหล่งบงกช และไม่ใช้งานสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบแล้ว

 

ปตท.สผ.จ่ายหมื่นล้าน รื้อแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกช

 

ทั้งนี้ ก่อนการส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งดังกล่าวนี้ ปตท.สผ. ได้ส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบ รวมถึงเอกสารสนับสนุนการผลิตอื่น ๆ  เพื่อประโยชน์ ในการบริหารจัดการสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) ต่อจาก ปตท.สผ. ให้สามารถดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นอายุสัมปทาน เพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

 

 

แหล่งข่าวจากวงการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การส่งมอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเลครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเล เช่น แท่นผลิตปิโตรเลียม จำนวน 46 แท่น ที่รัฐรับมอบนำไปใช้ประโยชน์ ขณะที่แท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 4 แท่น ที่รัฐไม่รับมอบไป ปตท.สผ.จะต้องทำการรื้อถอน คาดว่าจะใช้ค่าใช้จ่ายกว่า 1.5 พันล้านบาท โดยไม่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายก้อนนี้ที่จะถูกนำไปใช้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

 ส่วนการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเลของแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 นี้ ได้รับทราบว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้อนุมัติแผนการดำเนินงานในการรื้อถอนแท่นของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แล้ว แต่ยังมีปัญหาว่า การเจรจาในเรื่องการวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นจำนวน 142 แท่น ที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และคงจะเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อจนกว่า การฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการจะได้ข้อยุติ