เล็งรื้อสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุนต่างชาติ หนีปม OECD รีดภาษี 15%

07 เม.ย. 2565 | 07:51 น.

นายกรัฐมนตรี สั่ง BOI กลับไปทบทวนมาตรการ และสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของไทยใหม่อีกครั้ง หลังเจอปม OECD รีดภาษีจากบริษัทข้ามชาติทั่วโลกในอัตรา 15% หวั่นกระทบแผนดึงนักลงทุนต่างชาติอุตสาหกรรมเป้าหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ว่า ได้สั่งให้ บีโอไอ กลับไปทบทวนมาตรการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยใหม่อีกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกติกาใหม่ด้านการจัดเก็บภาษีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD

 

สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากเมื่อช่วงปลายปี 2564 ทาง OECD ได้มีการประกาศบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax Rate) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลกในอัตรา 15% สำหรับการลงทุนในประเทศต่าง ๆ 

 

โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ และขอบเขตการจัดเก็บภาษีนั้น บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องมีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป

 

“ในอนาคตก็ให้ไปทบทวนกฎกติกาภาษีของ OECD โดยให้ไปหารือกันต่อ เพราะตอนนี้หลายประเทศกำลังดูเรื่องของการเสียภาษี 15% แต่เป็นเฉพาะบริษัทที่มีมูลค่าการค้าสูง เรื่องนี้เป็นหลักการของ OECD ที่ไทยต้องเร่งศึกษาและหารือร่วมกัน เพราะหลายประเทศในภูมิภาคเราก็ติดตามกันอยู่” นายกรัฐมนตรี ระบุ

 

นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมบอร์ด BOI

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอได้นำเสนอความคืบหน้าของข้อตกลง OECD ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ ให้กับที่ประชุมรับทราบในวันนี้ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรกับการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งกรณีดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดว่ามีผลกระทบกับแผนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมากแค่ไหน

 

“ตอนนี้ต้องศึกษารายละเอียดว่า จะออกมาตรการอะไรใหม่มาทดแทนหรือไม่ เช่น ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากเรื่องของภาษี เช่น การให้สิทิประโยชน์กับคน หรือโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องนี้จะต้องแสวงหาเพื่อให้ไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจในการลงทุนอยู่”

 

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า เบื้องต้นกรณีดังกล่าวยังไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับการลงทุนของไทยมาก เพราะตามข้อตกจะส่งผลกระทบกับบริษัทที่มียอดขายทั่วโลกอย่างน้อย 750 ล้านยูโรขึ้นไป แต่บริษัทในไทยทั้งหมดยอดขายไม่ถึงอยู่แล้ว ส่วนต่างชาติจำนวนมากก็ไม่เข้าข่าย

 

แต่อย่างไรก็ดีบีโอไอ ก็ต้องมาศึกษารายละเอียดในกรณีที่ไทยต้องการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อไปเพราะปัจจุบันสิทธิประโยชน์ของไทยได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ค่อนข้างสูง หากบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายเสียภาษีไม่ถึง 15% ก็ต้องจ่ายส่วนต่างในประเทศต้นทางด้วย

 

“ที่ผ่านมาเราอยากดึงบริษัทไฮเทค S-Curve เข้ามาลงทุนในไทย และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ แต่ถ้าบริษัทเข้ามาลงทุนเสร็จแล้วจ่ายไม่ถึง 15% เขาต้องจ่ายส่วนต่างไปยังบริษัทแม่ ทั้งที่บีโอไอยกเว้นให้ ดังนั้นจึงต้องหาเครื่องมืออื่น ๆ ให้เขายังสนใจเข้ามาลงทุนในไทยอยู่ โดยต่อไปสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษีเงินได้อาจไม่ได้ผล ต้องมาดูมาตรการอื่น ๆ แทน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทุกประเทศต้องศึกษา” เลขาธิการบีโอไอ กล่าว

 

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีของ OECD โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งผลดีและผลเสีย เพื่อปรับการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนทั้งจากต่างประเทศและการลงทุนในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนได้อย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ